ธุรกิจชิปปิ้งร้องกรมศุลกากร เลิกบังคับเป็นสมาชิกสมาคมหวั่นผิดกฎหมาย

30 มี.ค. 2565 | 10:34 น.

ตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออก บริษัท ห้างร้าน และตัวแทนอิสระ (ชิปปิ้ง) ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ขอให้ยกเลิกคำสั่งในการบังคับให้เป็นต้องสมาชิกสมาคมในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร ชี้ไม่ถูกกฎหมาย แถมต้องจ่ายเงินรายปี

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออก บริษัท ห้างร้าน และตัวแทนอิสระ (ชิปปิ้ง) ได้มีการยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร (ผ่านเลขานุการกรมศุลกากร) เรียกร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งในการบังคับให้เป็นต้องสมาชิกสมาคมในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร ดังนี้

 

1. ด้วยการต่ออายุบัตรตัวแทนออกของบริษัทฯ ห้างร้าน และตัวแทนอิสระ (ชิปปิ้ง) ในปัจจุบัน ต้องถูกบังคับให้ต้องเป็นสมาชิกกับสมาคมทั้งบุคคลและนิติบุคคล ต่อปีบุคคลละ 1,500 บาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 4,500 บาท นิติบุคลต่อปี 3,500 บาท 3 ปี เป็น เงิน 10,500 บาท ในการต่ออายุบัตรทุก ๆ 3 ปี 

 

จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งการเป็นสมาชิกกับสมาคมชิปปิ้ง หรือสมาคมอื่น ๆ ก็ตาม เพราะขัดต่อกฎหมายศุลกากรและรัฐธรรมนูญที่ต้องให้บริการโดยภาครัฐ และต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

2. เรื่องของสมาชิกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีค่าสมาชิกแรกเข้า+รายปี รวม 2,500 บาทต่อปี

 

3. มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้า บริษัท ห้างร้าน และตัวแทนอิสระ (ชิปปิ้ง) เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท และบุคคลแรกเข้า 1,000 บาท ในปีแรกเข้า (เงินแปะเจี๊ยะ) ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ไม่ใช่ให้สมาคมต่าง ๆ มาครอบงำ หรือมากำหนดนโยบายต่าง ๆ และกรมศุลกากร มิใช่ลูกไล่หรือลูกน้องของสมาคมต่าง ๆ ซึ่งมิได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายศุลกากรและรัฐธรรมนูญ

  • นิติบุคคลแรกเข้า 5,000 บาท สมาชิกรายปี 2,500 บาท
  • บุคคลธรรมดา ค่าแรกเข้า 1,000 บาท ค่าสมาชิกปีละ 1,500 บาท 

 

4. จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในยุคเศรษฐกิจที่ไม่ปกติบวกกับการระบาดโควิด-19 ซึ่งก็มากพอสมควรแล้ว และตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกแต่ละท่าน ทั้งตัวแทนอิสระก็ดี บริษัท ห้างร้าน ก็ดี ต่างได้ทำการติดต่อกับกรมศุลกากรมาเป็นเวลาช้านาน (40-50 ปี) 

 

จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งบังคับให้เป็นสมาชิกสมาคมชิปปิ้ง และสมาคมต่าง ๆ เพราะผิดกฎหมายศุลกากรและกฎหมาย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 

 

หนังสือเรียกร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งในการบังคับให้เป็นต้องสมาชิกสมาคมในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร

อย่างไรก็ตามยังกลุ่มชิปปิ้ง ได้ทำหนังสือเปิดผนึก ระบุด้วยว่า 

 

1.ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศที่มีการนำเข้าและส่งออกทั่วโลก บริษัทและห้างร้านจะมีการว่าจ้าง กลุ่มชิปปิ้ง เป็นตัวกลางในการติดต่อกับกรมศุลกากร เพื่อออกของที่นำเข้าและส่งออก

 

2.ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เรื่องตัวแทนออกของตามมาตรา 99 ถึงมาตรา 101 บัญญัติ เรื่องตัวแทนออกของไว้อย่างชัดเจนแล้ว มิได้อยู่ในอาณัติของสมาคมชิปปิ้งหรือสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาติในไทย หรือ สมาคมอื่นใด และกรมศุลกากรซึ่งเป็นหน่วยของรัฐ ได้กำหนดให้มีตัวแทนออกของที่บัตรผ่านพิธีการศุลกากร บัตรผู้จัดการ และบัตรผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งมีอยู่แล้วในระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร

 

3.ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 172/2560 ฉบับที่ 4 ได้ขยายเวลาและต่ออายุบัตรต่างๆ ตามข้อ 2 แล้ว โดยเฉพาะบัตรตัวแทนออกของ (บัตรชิปปิ้ง) ซึ่งมีอายุ 3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วก็สามารถต่ออายุบัตรได้ ตามปกติ แต่มีการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปว่าจะต้องไปเป็นสมาชิกสมาคมชิปปิ้ง หรือสมาคมตัวแทนออกของ รับอนุญาติในไทย หรือสมาคมอื่นใดก็ต่างจากเดิม

 

4.ขอเรียนว่ากรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐ บริษัท ห้างร้าน หรือบุคคลใดก็ตามจึงสามารถมาติดต่อในการออกของได้อย่างอิสระมิใช่หรือ ทำไมต้องไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมตามข้อ 4 ซึ่งผิดกฎหมาย ศุลกากรและกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริการของรัฐต้องเป็นอิสระในการให้บริการแก่ประชาชน ไม่อยู่ ในอาณัติของสมาคมชิปปิ้ง หรือสมาคมอื่นใดก็ตาม

 

5.จึงขอเรียนเชิญตัวแทนออกของในรูปของบริษัทชิปปิ้ง ชิปปิ้งอิสระ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการดำเนินการกรมศุลกากร อย่างเป็นอิสระตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายรัฐธรรมนูญ