ทำไมต้องเชื่ออันดับความน่าเชื่อถือ S&P สำคัญยังไง แต่ละระดับหมายถึงอะไร

22 มี.ค. 2565 | 10:00 น.

ทำไมนักลงทุนต้องเชื่อ การอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับ โดยเฉพาะ S&P มีความสำคัญยังไง เเละแต่ละระดับหมายถึงอะไรบ้าง

หลังจากที่ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ S&P ปรับลดเครดิตเรตติ้ง 4 ธนาคาร “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย- กรุงไทย-ทีเอ็มบีธนชาต” เหตุจากความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์ ยอดหนี้เสีย (NPL)ในภาคธนาคารของไทยจะขยับขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า จนแตะระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

วันนี้จะพามาดูว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำคัญยังไง แล้วแต่ละระดับหมายความว่ายังไง เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ  

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเปรียบเหมือนผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้า ถ้าสินค้าคุณภาพดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ก็จะให้เกรด AAA เเต่ถ้าคุณภาพต่ำก็จะให้เกรด D  ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-) และ Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB+- ลงไปจนถึง D)

 

บริษัทจัดอันดับเครดิตจะวิเคราะห์จากผลดำเนินงานและความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อบริษัท นักลงทุนจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตตลอดระยะเวลาการลงทุน

  • ระดับบริษัท พิจารณาจากผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการ ความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ โครงสร้างในการบริหารงาน การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ
  • ระดับประเทศ พิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความมีเสถียรภาพของค่าเงิน ฐานะการคลัง ตลอดจนภาวะการค้า การลงทุน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

 

S&P Global Ratings ถือเป็นบริษัทในเครือของ S&P Global Inc. (NYSE:SPGI) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก โดยได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ทั้งในภาครัฐบาล องค์กร ภาคการเงิน กองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ มาแล้วกว่า 1 ล้านรายการ บริษัทมีนักวิเคราะห์การจัดอันดับความน่าเชื่อถือประมาณ 1,400 คน ใน 26 ประเทศ

 

มีประสบการณ์ประเมินความเสี่ยงความน่าเชื่อถือกว่า 150 ปี โดยให้บริการข้อมูลที่ครอบคลุมประเทศทั่วโลกและข้อมูลเชิงลึกในแต่ละประเทศ การศึกษาวิจัยและความคิดเห็นของบริษัทต่อปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อความเสี่ยงของความน่าเชื่อถือจะเป็นข้อมูลให้ผู้ที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกสามารถพัฒนาให้เกิดความโปร่งใสขึ้นได้ข้อมูลเพิ่มเติมของS&P Global Ratings  ดูได้ที่ http://www.spratings.com

 

ปีที่ผ่านมา S&P ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย โดยคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ จากการคลังสาธารณะ-การเงินต่างประเทศมีความแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยสำคัญจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และเสถียรภาพทางการเมือง

 

คำถามคือ ทำไมนักลงทุนเชื่อถือการจัดอันดับของบริษัทเหล่านี้ เพราะเมื่อบริษัทได้รับการจัดอันดับจากสถาบันจัดอันดับที่มีความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น S&P Global Ratings บริษัทนั้นก็ย่อมได้รับความสนใจจากนักลงทุน และได้ภาพลักษณ์ที่ดีต่อการประกอบกิจการทั้งในระดับภูมิภาค และสากล และเป็นทางเลือกในการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั่วโลก

 

เกณฑ์การให้คะแนนของ  S&P Global Ratings

  • AAA  ความสามารถที่แข็งแกร่งอย่างยิ่งในการบรรลุภาระผูกพันทางการเงิน
  • AA  ความสามารถที่แข็งแกร่งมากในการบรรลุภาระผูกพันทางการเงิน
  • A ความสามารถที่แข็งแกร่งในการบรรลุภาระผูกพันทางการเงิน แต่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์
  • BBB ความสามารถที่เพียงพอในการบรรลุภาระผูกพันทางการเงิน แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
  • BB มีความเสี่ยงน้อยลงในระยะสั้นแต่เผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องที่สำคัญต่อธุรกิจ การเงิน และสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์
  • B เสี่ยงต่อสภาวะธุรกิจ การเงิน และเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์ แต่ปัจจุบันมีความสามารถในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงิน
  • CCC เปราะบางและขึ้นอยู่กับสภาพธุรกิจ การเงิน และเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุภาระผูกพันทางการเงิน
  • CC มีความเสี่ยงสูง
  • C มีความเสี่ยงสูงต่อการไม่ชำระเงิน และการฟื้นตัว
  • D ผิดนัดชำระเงินตามข้อผูกพันทางการเงินหรือการละเมิดสัญญาที่กำหนด ใช้เมื่อมีการยื่นคำร้องล้มละลาย

 

สถาบันจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีชื่อเสียงมีประมาณ 3 บริษัท

  1.  S&P Global Ratings
  2. Moody’s Investors Service
  3. Fitch Ratings โดย S&P Global Ratings และ Moody’s Investors Service ครองส่วนแบ่งในตลาดนี้รวมกันประมาณร้อยละ 80 และ Fitch Ratings ครองสัดส่วนร้อยละ 15 และบริษัทอื่นๆ อีกร้อยละ 5

 

ในประเทศไทย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ

  1. บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
  2.  บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

อ้างอิง : สำนักงาน ก.ล.ต  S&P Global Ratings