“วิกฤติยูเครน” ไทยสูญแสนล้าน ส่งออก Q2 ออร์เดอร์หาย ค้าส่งแห่ปรับราคาพรึ่บ!

09 มี.ค. 2565 | 04:30 น.

วิกฤติยูเครนลามกระทบไทยหนัก สรท.ประเมินส่งออกไตรมาส 2 สูญแสนล้าน รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีอ่วม อีกด้านร้านขายส่งแห่ปรับราคาสินค้าพรึ่บ ปุ๋ยเคมีวัดใจพาณิชย์ขอปรับขึ้น แอลพีจี รอลุ้นขึ้น-ไม่ขึ้นอีก 45 บาทต่อถัง “จุรินทร์” ออกโรงปราม 18 สินค้าจำเป็นยังไม่ให้ขยับ

 

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ได้ลุกลามส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภค ราคาสินค้า และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทะยานแตะ 125 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ดูไบ 7 ม.ค.65) สูงสุดรอบ 13 ปี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากสหรัฐฯและยุโรปสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะทำให้น้ำมันขาดแคลนถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ จากรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สัดส่วน 7% ของอุปทานโลก

 

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ขาดแคลน และปรับตัวสูงขึ้น จากทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญ รวมถึงรัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ที่รัสเซีย เป็นผู้ส่งออกสัดส่วนถึง 25% ของปริมาณปุ๋ยเคมีในตลาดโลก ทำให้ปุ๋ยหายไปจากตลาด และดันราคาปุ๋ยตลาดโลกปรับขึ้นอีก ปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ข้างต้น ได้ลามกระทบต่อประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนทั้งเรื่องการส่งออก ราคาสินค้า และอื่น ๆ

 

“วิกฤติยูเครน” ไทยสูญแสนล้าน ส่งออก Q2 ออร์เดอร์หาย ค้าส่งแห่ปรับราคาพรึ่บ!

 

  • Q2 ส่งออกไม่โตสูญแสนล้าน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สรท.ได้ประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการขนส่ง ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตปรับขึ้นทุกตัว ขณะที่เหตุการณ์ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลก คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ คาดการส่งออกของไทยในภาพรวมไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะลดลงประมาณเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3 เดือนราว 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเวลานี้ประมาณ 30% สายเดินเรือปรับขึ้นค่าขนส่งอัตโนมัติตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนโลจิสติกส์ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นทุกตัว แต่ผู้ส่งออกยังปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ ทางออกคือเจรจาคู่ค้าขอลดปริมาณการส่งสินค้าในไตรมาส 2 ลง เพราะยิ่งส่งยิ่งเจ๊ง ฟันธงว่าส่งออกไทยไตรมาส 2 จะไม่เติบโต จะทรงตัวหรือติดลบเท่าไรนั้นขึ้นกับความรุนแรงของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป”

 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปทั่วโลกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบส่งออกได้ลดลงในไตรมาส 2 ของปีนี้ อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

  • สินค้าแห่ปรับอ้างต้นทุนสูง

อีกด้านหนึ่งจากผลกระทบสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน รวมถึงผลกระทบจากหลายปัจจัย เจ้าของร้านค้าส่งรายใหญ่ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เผยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สินค้าหลายรายการถูกปรับขึ้นราคาขายส่งไม่ว่าจะเป็น นมพร้อมดื่มยูเอชที ปรับขึ้นจาก 53 บาท เป็น 58 บาท น้ำมันปาล์ม จาก 63 บาท เป็น 68 บาทต่อขวดลิตร เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อปรับขึ้นลังละ 10-15 บาท เฉลี่ยปรับขึ้นซองละ 25 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

 

ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ก็ปรับราคาขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุราขาว เบียร์ รวมถึงโซดา ที่มีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว ส่วนสุราสี น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ยังไม่ปรับราคาขึ้น แต่คาดว่าจะมีการปรับราคาในเร็ว ๆ นี้ เพราะได้รับแจ้งว่าต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมัน

 

ส่วนสินค้าประเภทของใช้ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซอสปรุงรส รวมถึงสแน็ค มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาเช่นกัน หลังจากที่ผู้ผลิตแจ้งว่าต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นทั้งจากค่าขนส่ง พืช ผักต่าง ๆ ก็ขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

  • ปุ๋ยยื่นพาณิชย์ขอปรับขึ้น

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า วันที่ 8 มีนาคม 2565 ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้พิจารณาปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมี จากเวลานี้ผู้ผลิตมีต้นทุนสูงกว่าเพดานราคาขายที่แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมาราคาแม่ปุ๋ยพุ่งสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยมีการนำเข้าจากหลายแหล่ง เฉลี่ยปรับขึ้น 50-100%

 

เปล่งศักดิ์  ประกาศเภสัช

 

ล่าสุดรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกแม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมีคิดเป็นสัดส่วน 25% ของโลกได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ย(ไทยนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียปี 64 ประมาณ 5 แสนตัน) ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยหายไปจากตลาด และกดดันให้ราคาในตลาดโลกปรับขึ้นอีก ดังนั้นขอให้ภาครัฐได้พิจารณาปรับเพิ่มเพดานราคา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พอมีกำไรหล่อเลี้ยงธุรกิจและคนงาน และมีการผลิตปุ๋ยออกมาจำหน่ายให้เกษตรกร

 

  • “จุรินทร์”เบรกยังไม่อนุญาต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาตให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หากต้นทุนมีสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็ต้องมาพิจารณาหาจุดสมดุลว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ดูแลทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์

 

“ย้ำว่ายังคงกำกับราคาสินค้าในประเทศ 18 หมวดสำคัญ ยังไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา ได้แก่ 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้าง ค้าปลีก-ส่ง”

 

นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ผลิตมาขอปรับราคาสินค้าหลายราย แต่กรมยังไม่ให้มีการปรับโดยจะเน้นการขอความร่วมมือและลงนามให้ตรึงราคาไปก่อน ส่วนกรณีที่มีน้ำอัดลม รวมถึงบะหมี่สำเร็จรูปที่จะปรับขึ้นราคา โดยให้เหตุผลว่าต้นทุนการผลิตสูงนั้น ขณะนี้กรมยังไม่อนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคา ต้องมีการหารือก่อน เพราะถือว่าเป็นสินค้าควบคุม

 

  • แอลพีจีลุ้นขึ้น 45 บาท/ถัง

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงประเด็นเรื่องก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่รัฐอุดหนุนตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค.นี้ (มีกระแสข่าวจะปรับขึ้นอีก 45 บาทต่อถังแบบขั้นบันไดในทุก 3 เดือน) ว่า เรื่องการปรับขึ้นราคาจะเป็นแบบใดนั้น ยังต้องมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) โดย ณ ปัจจุบันยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรแน่นอน ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินอุดหนุน LPG ประมาณ 2000 ล้านบาท/เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาของ LPG ในเวลานั้นด้วยว่าอยู่ที่ระดับเท่าใด

 

  • ขนส่งชั่งใจปรับ-ไม่ปรับ

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลที่กระทบต่อราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงว่า ทางสหพันธ์ฯเล็งเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ผ่านมาสหพันธ์ฯมีแผนที่จะปรับขึ้นค่าขนส่งอยู่ที่ 15-20% แต่เมื่อพิจารณาอีกรอบหากมีการปรับขึ้นค่าขนส่งจะเป็นภาระต่อประชาชน เบื้องต้นทางสหพันธ์ฯขอประเมินสถานการณ์ดังกล่าวก่อน รวมทั้งความชัดเจนของภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีการนำน้ำมันไบโอดีเซลไปผสม  หากภาครัฐเบรกการใช้น้ำมันไบโอดีเซลชั่วคราวและลดภาษีสรรพสามิตลงอีก จะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้อีก คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

 

อภิชาติ  ไพรรุ่งเรือง

 

“เราพยายามตรึงค่าขนส่งต่อเนื่อง หากไม่ไหวจริงๆ เราก็จำเป็นที่จะปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง 15-20%  ทั้งนี้เราจะไม่มีการเจรจากับภาครัฐแล้ว เพราะภาครัฐและกระทรวงพลังงานแจ้งว่าภาครัฐได้มีการประกาศลดภาษีสรรพสามิต รวมทั้งลดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล 7% เหลือ 5% หากมีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งในช่วงนี้จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ถึงแม้ราคาหมูลดลง แต่ยังทำให้ราคาสินค้าอื่นๆสูงขึ้นอีก 10%”

 

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงยากมาก โดยทางสหพันธ์ฯพยายามลดต้นทุนด้านอื่น ๆ แทน เช่น อะไหล่รถขนส่ง, ยางรถ,การซ่อมบำรุง จากเดิมที่มีการใช้บริการจากศูนย์บริการต่าง ๆ ทางสหพันธ์ฯหันมาดำเนินการเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ราว 2-3% ต่อราคาน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร

 

นายอภิชาติ  กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลออกไปอีก 2 เดือนนั้น ทางสหพันธ์ฯมองว่า ภาครัฐไม่สามารถตรึงราคาได้ถึง 2 เดือน เพราะที่ผ่านมาภาครัฐมีการประกาศตรึงราคาอยู่ที่ 27-28 บาทต่อลิตร แต่ไม่ถึงสัปดาห์พบว่าราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นถึง 29 บาทต่อลิตร

 

“จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น กระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งแน่นอน หากเราไม่ปรับราคาค่าส่งขนส่งผู้ผลิตไม่สามารถหาข้ออ้างไปปรับราคาสินค้าเพิ่มได้ เพราะเราเป็นผู้ที่กระจายวัตถุดิบให้กับโรงงานผู้ผลิต ถ้ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า เราคงต้องแถลงความชัดเจนต่อไป”

 

  • รัสเซียเที่ยวไทยส่อวูบหนัก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ต่อสถานการณ์การจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าเข้าไทย (Forward Booking)ในช่วงไตรมาสแรกปี2565  มีแนวโน้มแผ่วลง โดยคาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะรับผลกระทบใน 2 มิติ ได้แก่

 

1. ผลกระทบทางตรงจากการชะลอถึงยุติการเดินทางของนักท่องเที่ยวรัสเซีย อันเป็นผลจาก มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น และค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงกว่า 30% แล้ว และการยกเลิกเที่ยวบินตรงจากรัสเซียเข้าภูเก็ตและกรุงเทพฯ ของสายการบิน S7 Airlines ไปจนถึงวันที่ 25 มี.ค.65 และสายการบินAeroflot ประกาศระงับเที่ยวบิน เส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทางชั่วคราว ทำให้เป็นข้อจำกัด ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวบางส่วนที่กำลังวางแผนจองเดินทางมาไทย ใน รูปแบบ Test & Go ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเในเดือนมี.ค.นี้มีแนวโน้มลดลงไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการจองฯ เดือนม.ค.ที่ผ่านมา

 

2.ผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกา อันเป็นผลจากการชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากการถีบตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้อำนาจการซื้อลดลง ททท.จึงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก การปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารเครื่องบินจากภูมิภาคยุโรป ตามระยะทางการบินที่เพิ่มขึ้นจากการเลี่ยงเส้นทางการบินผ่านผ่านฟ้ารัสเซียและยูเครน และการระงับทุกเที่ยวบินและทุกสายการบินระหว่างประเทศจากรัสเซียมาไทย และโอกาสที่ปัญหาความขัดแย้งจะลุกลามไปประเทศอื่นในภูมิภาคยุโรป

 

ยุทธศักดิ์  สุภสร

 

ดังนั้นในเบื้องต้นหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ยืดเยื้อเกินกว่าระยะเวลาของวิกฤติไครเมีย เมื่อปี2557 (1 เดือน 6 วัน) คาดว่านักท่องเที่ยวรัสเซียจะเดินทางเข้าไทยประมาณร้อยละ 10 - 30 ของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียปี 2562(1.4 ล้านคน) หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ148,000 – 444,000 คน

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  3764 วันที่ 10- 12 มีนาคม 2565