รู้จักโลกการเงินดิจิทัล กับ 4 วิธีปรับตัวรับอย่างราบรื่น

18 ก.พ. 2565 | 04:54 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย แนะแนวทางผลักดันให้ภาคการเงิน สนับสนุนครัวเรือนที่ยังไม่พร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัล สามารถปรับตัวรับได้อย่างราบรื่น ผ่าน 4 วิธีสำคัญที่ควรรู้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำทิศทางและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อวางแผนในการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ทัน โดยเฉพาะ "โลกการเงินดิจิทัล"

 

รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโดยรวมให้ทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ตามแผนยังกำหนดแนวทางในการผลักดันให้ภาคการเงินมีส่วนช่วยให้ครัวเรือนที่ยังไม่พร้อมสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลได้อย่างราบรื่น และช่วยให้ครัวเรือนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวสามารถจัดการหนี้สินและไปต่อได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ธปท. ได้กำหนดหลักการไว้ โดยสิ่งที่อยากเห็น คือ ประชาชนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับ "การเงินดิจิทัล" และเท่าทันภัยทางการเงินรูปแบบใหม่ 

 

ส่วนสิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ ครัวเรือนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถปรับตัวและไปต่อได้ในระยะยาว หรือกลับมาก่อหนี้โดยไม่จำเป็นหรือเกินความสามารถจนมีหนี้สินล้นพ้นตัวอีก และครัวเรือนที่มีศักยภาพไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถหรือมีการก่อหนี้จนเกินตัว

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะให้ภาคครัวเรือนสามารถปรับตัวได้ จึงมีสิ่งที่ต้องดำเนินการดังนี้ 

1. ยกระดับความรู้ทางการเงิน 

 

เป็นการยกระดับการให้ความรู้ ทักษะทางการเงิน และ การเงินดิจิทัล (Financial/Digital Literacy) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงิน และช่วยให้ประชาชนเท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีและภัยทางการเงินรูปแบบใหม่

 

  • พัฒนาและปรับปรุงแหล่งข้อมูลความรู้ทางการเงินและการเงินดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เท่าทันภัยทางการเงินรูปแบบใหม่และเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ให้ผู้ให้บริการทางการเงินมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้บริการทางการเงินมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี เช่น จูงใจให้มีการออมเผื่อเกษียณ หรือชำระหนี้ก่อนหรือตามกำหนด

 

2. ส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

 

ผ่านการผลักดันการให้สินเชื่อแก่รายย่อยอย่างเหมาะสมกับความสามารถของลูกค้าเพื่อดูแลไม่ให้ลูกค้าก่อหนี้จนเกินตัว โดยกำกับดูแลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับของ ธปท. พิจารณาให้สินเชื่อแก่รายย่อยโดยให้ความสำคัญกับการที่ลูกค้ามีเงินเหลือหลังหักชำระหนี้ทั้งหมดเพียงพอดำรงชีพและไม่ก่อหนี้จนเกินตัว 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็น เช่น ใช้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ในการพิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้าที่มีสถานะทางการเงินเปราะบางอย่างเคร่งครัดแม้จะสามารถหักเงินเดือนชำระหนี้ได้ก่อน 

 

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพิจารณาถึงความจำเป็นของการออกมาตรการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค (macroprudential) เพื่อช่วยชะลอการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็นของภาคครัวเรือน หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

 

3. ผลักดันการแก้หนี้แบบครบวงจร

 

แนวทางต้องจำเป็นต้องผลักดันกลไกการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจรสำหรับครัวเรือนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวให้สามารถปรับตัวและไปต่อได้ในระยะยาวโดยไม่กลับมามีหนี้สินล้นพ้นตัวอีก

 

โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนที่มีหนี้ล้นพ้นตัวกับผู้ให้บริการหรือหน่วยงานอื่นอย่างยั่งยืน เช่น หนี้สหกรณ์ หนี้ข้าราชการ และหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 

 

รวมถึงการออกแบบแผนการชำระคืนหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาวโดยต้องมีเงินเหลือหลังหักชำระหนี้เพียงพอดำรงชีพ การปรับปรุงเกณฑ์หรือเงื่อนไขการให้กู้ยืมเพื่อช่วยลดภาระในการผ่อนหนี้และเป็นธรรมกับผู้กู้มากขึ้น เช่น การปรับลำดับการตัดชำระหนี้โดยตัดเงินต้นก่อน เป็นต้น

 

เช่นเดียวกับการกำหนดเงื่อนไขที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้กู้จ่ายคืนหนี้อย่างต่อเนื่องและปิดหนี้ได้เร็วขึ้น เช่น ลดเงินต้นสำหรับผู้กู้ที่มีประวัติการชำระดี

 

4. จัดเก็บข้อมูลภาระหนี้ครัวเรือน

 

ในด้านสุดท้ายนี้ต้องผลักดันการจัดเก็บข้อมูลภาระหนี้ที่ครัวเรือนมีกับผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่าง ๆ อย่างครอบคลุม และนำไปใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่รายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ครัวเรือนที่มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถด้วยราคาที่เป็น Risk-Based Pricing 

 

รวมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและลดการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน เช่น

  • ระยะสั้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank Retail Lending) และสหกรณ์ออมทรัพย์รายสำคัญเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB)
  • ระยะปานกลางถึงยาว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ 

 

ทั้งนี้ผู้ให้บริการสามารถนำไปใช้พัฒนาและนำเสนอบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดเป็นคะแนนทางการเงินของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมทางการเงินและวัฒนธรรมด้านสินเชื่อ (Credit Culture) ที่ดีในระบบการเงินต่อไป

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย