WHAUP อัด 1,400 ล้าน ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

12 ก.พ. 2565 | 05:04 น.

WHAUP อัดงบลงทุน 5 ปี 1 หมื่นล้านบาท ลุยให้บริการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและสาธารณูปโภค ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปปีนี้เพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ ลงทุนราว 1.4 พันล้านบาท สู้เป้าหมาย Renewable Energy ครบ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566

 

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยถึงทิศทางและแผนดำเนินงานทางธุรกิจว่า บริษัทฯ ตั้งงบลงทุน 5 ปี (2565 - 2569) ที่ 10,000 ล้านบาท เป็นส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานในสัดส่วนละ 50% โดยปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนในต่างประเทศที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ อาทิ การลงทุนในโครงการใหม่ (Green Field) และการซื้อกิจการ (M&A)

 

ทั้งนี้ ธุรกิจด้านพลังงานในปี 2565 บริษัทฯจะใช้เงินลงทุนราว 1,400 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 700 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่มียอดกำลังการผลิตสะสม 642 เมกะวัตต์ ด้วยการเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนทั้งโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ โดยตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่มียอดเซ็นสัญญาสะสม 92 เมกะวัตต์ 

 

WHAUP อัด 1,400 ล้าน ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

 

บริษัทฯยังได้ศึกษาการต่อยอดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ หรือ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัทฯ และพันธมิตรชั้นนำด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี และเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

 

ปัจจุบันได้เริ่มการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ หลังภาครัฐให้ไฟเขียว เป็นปัจจัยหลักหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของ WHAUP เพิ่มขึ้นอีก 100-200 เมกะวัตต์ บรรลุเป้าหมายการขยายธุรกิจ Renewable Energy ได้ครบ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้  ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 150 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการ Battery Energy Storage System (BESS) หรือการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลงทุนประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อเสนอเป็นบริการให้แก่ลูกค้า และการศึกษาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid เพื่อยกระดับระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

 

ทั้งนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ผนวกกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ควบคู่กับการผนึกกำลังกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ Renewable Energy และสร้าง Business Model ใหม่ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

 

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ในปีนี้ตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งในประเทศ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร และในเวียดนาม 25 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับการเติบโตของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ผนวกกับการขยายฐานลูกค้าภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

 

อีกทั้ง มีแผนจะขยายธุรกิจน้ำในแนวดิ่ง ผ่านการสำรวจหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงและบริหารต้นทุนในการซื้อน้ำดิบ ควบคู่กับการพัฒนาโครงการ Wastewater Reclamation หรือ การนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมากลับใช้ใหม่ เพื่อผลิตน้ำมูลค่าเพิ่ม อาทิ น้ำปราศจากแร่ธาตุ  น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง รวมไปถึงนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้แก่ Smart Utilities Service Platform และโซลูชั่นใหม่ๆ มาใช้ เพื่อยกระดับการดำเนินงานและส่งมอบบริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรมากยิ่งขึ้น 

 

 “ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง กับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จำนวน 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้  และได้จับมือบริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “บริษัท ดับบลิวเอชเอยูพี เอเซีย รีเคลมเมชั่น วอเตอร์ จำกัด” (WHAUP AIE) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการน้ำรีไซเคิลและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (มาบตาพุด) โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) กับบริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้ารายแรก ด้วยกำลังการผลิตกว่า 790,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายน้ำให้กับลูกค้าได้ในไตรมาส 4 ของปี 2565”

 

ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 6,000 ล้านบาท ในปี 2569 หรือ 2 เท่าจากปี 2564 โดยที่ยังคงรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA(EBITDA : กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ในระดับสูงกว่า 50% จากการเติบโตของธุรกิจหลักทั้งน้ำและไฟฟ้า

 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,756 วันที่ 10 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565