ปตท.ตั้งเป้าผลิตรถ EV 5 หมื่นคันปี 67 ตอบโจทย์ความต้องการในประเทศ-อาเซียน

12 ก.พ. 2565 | 01:02 น.

ปตท.ตั้งเป้าผลิตรถ EV 5 หมื่นคันปี 67 ตอบโจทย์ความต้องการในประเทศ และอาเซียน และขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คันปี 73

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ "Finding Growth in Crisis" หลักสูตร Digital Transformation for CEO#3 โดยหลักสูตรดังกล่าวถือเป็นการจัดงานรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ว่า

 

ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ออกสู่ตลาดจำนวน 50,000 คันต่อปี ภายในปี 2567 ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนและลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี โดยหลังประกาศร่วมทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ของปตท. และ ฟ็อกซ์คอนน์ จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS)

 

โดยมีสัดส่วนการลงทุนของ ฮอริษอน พลัส ที่ 60% และ หลินยิ่ง 40% ตามแผนความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทย 

โดย ฮอริษอน พลัส มีเป้าหมายที่จะก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ของไทย โดยมีกำหนดจัดตั้งโรงงานแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ตามแผนดังกล่าวข้างต้น 

 

นายบุรณิน กล่าวอีกว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้จนถึงอนาคตจะเป็นการเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากแค่ไหน สิ่งสำคัญคือการเติบโต และการสร้างโอกาส ยิ่งประเทศเกิดวิกฤต ก็มักจะพบความสำเร็จในวิกฤตนั้นๆ ด้วย 

 

วันนี้ประชาชนอยู่บนโลกที่ซับซ้อนมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การตัดสินใจรูปแบบเดิมจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยเป็นบริษัทใหญ่รุ่งเรืองในการดำเนินธุรกิจ แต่ขณะนี้มีจีนเข้ามาขนาบข้าง เกิดบริษัทเล็กๆ มาเคียงข้าง จะเห็นได้ว่า บริษัทใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเสมอไป 

อย่างไรก็ดี นักธุรกิจไทยต้องปรับตัว แนะใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสทั้งนี้ ในยุคธุรกิจไม่มีแต้มต่อ  โดยสามารถมองเห็นโอกาสได้ ในภาพใหญ่ทุกการพัฒนาของโลกอยู่ในฐานสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของทุนนิยม ตั้งแต่ยุค 1.0 จนปัจจุบันทุกอย่างในอดีตถูกเชื่อมโยงเป็นอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT)

 

ในทุกอนุภาคของอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะเห็นได้ว่าทุกยุคสามารถมีทั้งผู้แพ้ผู้ชนะในการดำเนินธุรกิจสลับปรับเปลี่ยนกันไป บางยุคบางคนอาจมีทั้งแพ้ ชนะ หากมองเห็นโอกาสแก้มือใหม่สามารถกลับมาชนะใหม่ได้ จึงไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะแพ้หรือชนะตลอดไป

 

สำหรับข้อดีของ ปตท. คือใช้พลังงานทุกยุค ยิ่งอนาคตจะใช้พลังงานเยอะ แต่การใช้พลังงานต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทุกการเติบโตแย่งทรัพยากร แย่งธรรมชาติ

 

บุรณิน รัตนสมบัติ

 

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจแบบเดิมจึงต้องมีการปรับเปรียนโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน เพราะฉะนั้นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ พลังงานรูปแบบไฟฟ้า เกษตรสมัยใหม่ สมาร์ทกรีด และคาร์บอนแคปเจอร์ ที่ล้วนแต่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย

 

นายบูรณิน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน คนมีความรู้ด้านเทคโนโลยีและกลุ่มไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี จะทำอย่างไรให้ก้าวไปพร้อมกัน ก็เหมือนกับปตท.ที่ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ในทุกๆ ด้าน สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้า จึงมองว่าพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ

 

ดังนั้น การจะเปลี่ยนจากจากยุค 3.0 ไปยุค 4.0 ให้ได้ โดยการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ ให้มาเป็นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ถ้าจะต้องขับเคลื่อนประเทศหรือขับเคลื่อนบริษัทจะต้องมีวิธีคิดโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ และร่วมกับพันธมิตรช่วยขับเคลื่อนแข็งแกร่งไปพร้อมกัน