เปิด 7 รายชื่อ บิ๊ก รฟม.-คกก. ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ?

10 ก.พ. 2565 | 05:30 น.

เปิด 7 รายชื่อ บิ๊ก รฟม.- คณะกรรมการคัดเลือก ทีร่วมล้มการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจมีความผิดอาญาตามมา มีใครบ้าง ไปดูกัน

ความเคลื่อนไหวโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการระดับแสนล้านของรัฐบาล  ที่การรรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ทุบโต๊ะล้มประมูล

 

จนทำให้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในประเด็น “ยกเลิกประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวงเงินกว่า 128,128 ล้านบาท โดยกรณีดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจทางกฎหมายที่ถูกต้อง

 

 

ล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม สรุปสาระสำำคัญ ดังนี้

1. ศาลเห็นว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิมได้กำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินในแต่ละด้านไว้แล้ว ในส่วนเกณฑ์ด้านเทคนิค ก็เป็นเกณฑ์ขั้นสูงแล้วที่กำหนดให้ต้องผ่านแต่ละด้าน 80 คะแนนและคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 85 ของทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลงานที่คุณภาพสูง ส่วนด้านราคา รัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิมของ รฟม จึงชอบแล้ว 

 

2. ตามมาตรา 38 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนฯ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการคัดเลือกในการแก้ไขหลักเกณฑ์ ในส่วนที่คณะกรรมการและ รฟม อ้างว่ามีอำนาจอื่นๆ ในการแก้ไขหลักเกณฑ์นั้น ตามมาตรา 38(7) เป็นอำนาจเพื่อดำเนินการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นอำนาจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพรบ.ร่วมลงทุนฯ โดยแท้เท่านั้น คณะกรรมการจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรานี้แก้ไขหลักเกณฑ์ได้

 

3. ส่วนอำนาจตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ ข้อ 4(9) และข้อ 17.1 ที่อ้างว่าให้คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม สามารถแก้ไขหลักเกณฑ์ได้นั้น เห็นว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ใน RFP แม้ทำได้ แต่ก็ต้องไม่เกินขอบอำนาจตามประกาศดังกล่าว และการแก้ไขเป็นส่วนสาระสำคัญซึ่งมีผลต่องบประมาณแผ่นดิน จึงต้องดำเนินการเหมือนกับการกำหนดหลักเกณฑ์ฉบับแรก คือ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

4. นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม ใช้เวลาเพียง 9 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือจากอิตาเลียนไทยในการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก และไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของเอกชนก่อนจะแก้ไขหลักเกณฑ์แต่อย่างใด จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน จึงเห็นว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นเกณฑ์ price performance เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

5. ในส่วนประเด็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี หรือไม่นั้น ตามมาตรา 420 บัญญัติความเสียหายต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด ซึ่งต้องเป็นค่าใช่จ่ายในการบริหารจัดการ การเตรียมการหรือการยื่นข้อเสนอ แต่ความเสียหายตามคำฟ้องเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการดำเนินการค้าตามปกติของบริษัท และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงว่าเกิดจากที่คณะกรรมการและ รฟม. แก้ไขหลักเกณฑ์อย่างไร อีกทั้ง การแก้ไขหลักเกณฑ์ก็ไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ดังนั้น การอ้างว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ทำให้ต้องว่าจ้างที่ปรึกษาจึงไม่อาจรับฟังได้ เพราะไม่ใช่ความเสียหายโดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ไม่อาจพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้
 

ผลแห่งคดีที่ชี้ว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามม. 36 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจจะส่งผลต่อคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาคดีตามมา

 

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการมาตรา 36 ประกอบด้วย

  1. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.
  2. นายกิตติกร ตัณเปาว์ รองผู้ว่าการ รฟม.
  3. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
  4. นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ รองอัยการสูงสุด (ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด)
  5. นายประภาส  คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ อดีตผู้อำนวยการ สคร. (ผู้แทนสคร.)
  6. นายอัณษไธค์  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (ผู้ทรงคุณวุฒิ)
  7. นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน การทางพิเศษเเห่งประเทศไทย