เจอ "ไส้กรอก-หมูยอ" มรณะ สคบ. พร้อมรับร้องเรียน เรียกค่าเสียหาย

04 ก.พ. 2565 | 08:43 น.

รองเลขาธิการสคบ. ยืนยัน ผู้บริโภครายได้พบเจอกรณีไส้กรอก หมูยอ มรณะ เข้ามาร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ พร้อมเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าทลายแหล่งผลิตไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ในโรงงานเป้าหมาย จ.ชลบุรี พร้อมจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อน และยึดของกลางกว่า 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาทนั้น

 

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึงเรื่องนี้กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สคบ.ได้ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด หากผู้บริโภครายใดได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถร้องเรียนมายังสคบ.ได้ทันที โดยสคบ.จะทำการไกล่เกลี่ย เจรจา หรือฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคต่อไป

"สคบ.จะประสานกับทาง อย. เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องของเรื่องนี้มาแจ้งเตือนผู้บริโภคได้ถูกว่าควรแจ้งเตือนอย่างไรได้บ้าง มีสินค้าตัวไหนอันตราย หรือมีความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภค สามารถรับทราบข้อเตือนภัยได้เพิ่มมากขึ้น" นายสุวิทย์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคจะไปเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หรือหมูยอ ยี่ห้อต่าง ๆ สคบ.ขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีคุณภาพ หรือใครอยากแจ้งเสาะแสสามารถแจ้งมายังสคบ. ได้ผ่านช่องทางรับเรื่องร้องเรียนที่ www.ocpb.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน สคบ. 1166 และทางแอปพลิเคชัน OCPB Connect 

สำหรับกรณีดังกล่าว ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ อย. ได้เข้าไปตรวจสอบการผลิต ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ที่โรงงานผลิตพบว่า ฉลากสินค้าไม่แสดงเลขสารบบอาหาร และเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ (ได้คะแนนรวม 19 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.67) และพบข้อบกพร่องได้แก่ ไม่มีการควบคุมการผลิต ในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร อย่างเหมาะสม

 

อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมาย ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท โดยมีการยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท