ผวาการเมืองทุบซ้ำเศรษฐกิจ รัฐบาลไร้เสถียรภาพ คาดยุบสภาไตรมาส 4

21 ม.ค. 2565 | 03:25 น.

ขับ ส.ส.กลุ่มธรรมนัส สะเทือนเสถียรภาพรัฐบาลสั่นครอน เอกชนผวากระทบแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องล่าช้า เหตุต้องเร่งแก้ไขปัญหาทางการเมืองรักษาชีวิตรอดก่อน จับตาราคาน้ำมันดิบพุ่ง 100 ดอลลาร์ดันค่าครองชีพ เงินเฟ้อพุ่งรอบใหม่ กดดันรัฐบาลอยู่หรือไป นักวิชาการคาดยุบสภา Q4

การขับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กับพวกรวม 21 คนพ้นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำการเมืองไทยเข้ามุมอับ จากภาวะไร้เสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์ ที่กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีโอกาสแพ้โหวตในสภาได้ทุกเวลา

 

ขณะที่ยังมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับรอพิจารณา จะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดึงกลุ่มร้อยเอกธรรมนัสเข้าร่วมก็เสี่ยงขยายรอยร้าวพรรคร่วม กระทั่งจะยุบสภา ก็ติดปมกฎหมายลูกการเลือกตั้งรองรับระบบบัตร 2 ใบ ตามที่แก้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่ผ่านสภา หากดันจัดเลือกตั้งต้องมีการฟ้องร้องตามมากราวรูด

 

ธรรมนัส  พรหมเผ่า

 

การเมืองไร้อนาคตกลายเป็นความเสี่ยงการฟื้นฟูประเทศ จากวิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ซ้ำเติมด้วยภาวะสินค้าและบริการแพงที่กำลังคุกคามคนไทยเวลานี้

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นผู้นำแวดวงเศรษฐกิจธุรกิจเห็นคล้อยกันว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล การเมืองไทยและกระทบแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องล่าช้า

 

กระทบแก้ปัญหา ศก.ช้า

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การขับ 21 ส.ส. มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพรัฐบาลแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการแก้ไขปัญหาและการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้กลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด เพราะการเมืองกับเศรษฐกิจมีความเกี่ยวเนื่องกัน

 

หากรัฐบาลมีเสถียรภาพการแก้ไขปัญหาได้เร็วและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่หากการเมืองเป็นแบบนี้ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย กระทบดีมานต์-ซัพพลายของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ค้าปลีก ค้าส่ง รวมถึงการลงทุนใหม่ๆ ประเทศที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงาน

 

เกมต่อรองอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ นอกจากกระทบเสถียรภาพรัฐบาลแล้ว จะกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของแพง การควบคุมโควิด การท่องเที่ยวที่เอกชนมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งพิจารณานำมาตรการ Test & Go กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อดึงนักท่องเที่ยว รวมถึงการแก้ปัญหาอื่น ๆ

 

 เพราะรัฐบาลแทนที่จะมาคิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็จะมาคิดเรื่องการเมือง หรือเรื่องตัวเองก่อนว่าจะรอดไม่รอด เพราะด้านหนึ่งต้องต่อรองกับกลุ่มร้อยเอกธรรมนัสแล้ว

 

การที่เสียงรัฐบาลหายไป 21 เสียง คาดจะมีผลทำให้การต่อรองในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลแรงขึ้น เพราะอำนาจต่อรองของพรรคพลังประชารัฐจะลดลง รัฐบาลจะเจอศึกหลายด้านและมีแรงกระเพื่อมมากขึ้น ในเวลานี้ การเมืองของหลาย ๆ ประเทศเขานิ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิดเสียก่อน แต่ของเราไฟยังไหม้อยู่ ทะเลาะกันไม่มีคนดับ

 

ผวาการเมืองทุบซ้ำเศรษฐกิจ รัฐบาลไร้เสถียรภาพ คาดยุบสภาไตรมาส 4

 

เงินเฟ้อเพิ่มแรงกดดัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าการขับส.ส.กลุ่มร้อยเอกธรรมนัสออกจากพรรคพลังประชารัฐจะกระทบเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ แต่การขับ ส.ส. 21 คนออกจากพรรคถือว่าเยอะ และเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญในการแปรเปลี่ยนได้หลายเรื่อง

 

ทั้งนี้มีหลายสถานการณ์(scenario) ที่ต้องติดตามต่อไป เพราะตามสูตรในการร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา จำนวน ส.ส.20 คน สามารถต่อรองรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการได้รวม 2 คน

 

กรณีที่ดีที่สุด หรือวิน วิน หากฝ่ายกลุ่มร้อยเอกธรรมนัสที่ไปร่วมพรรคใหม่สามารถต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลได้ตามต้องการ และยังอยู่กับฝั่งรัฐบาล ก็ไม่น่ามีปัญหาต่อเสถียรภาพรัฐบาล

 

กรณีต่อมา หากสามารถต่อรองกันได้ แต่ได้กระทรวงอื่นที่เป็นของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอื่น แต่ทุกพรรคร่วมโอเค ภาพก็จะสวยงาม แต่อีกกรณีคือตกลงกันได้ แต่ไปเอาตำแหน่งของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นมา แล้วเขาไม่แฮปปี้ ก็อาจจะเปิดแผลที่ 2 และจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

 

กรณีแย่ที่สุดต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลไม่ได้ และกลุ่มร้อยเอกธรรมนัสไปอยู่กับพรรคที่ไม่มีผลประโยชน์กับรัฐบาล รัฐบาลก็จะมีความเสี่ยง เวลามีการโหวตมติ หรือโหวตผลจากการอภิปรายสำคัญๆ เสียงรัฐบาลอาจแพ้และนำไปสู่การยุบสภาได้

 

"เรื่องนี้คงต้องรอดูว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะพัฒนาไปอย่างไร แต่แน่นอนจะส่งผลให้รัฐบาลมีความพะว้าพะวังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ค่าครองชีพ และการฟื้นเศรษฐกิจที่ยังเป็นปัญหาใหญ่"

 

ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯได้ออกมาคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งสูงถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในกลางปีนี้ หรือในไตรมาส 3 และอาจจะยาวถึงสิ้นปี หากเป็นไปตามคาดการณ์จะส่งผลให้ราคาพลังงาน ค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าครองชีพ ราคาสินค้า และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพรัฐบาลเพิ่มขึ้น

 

คาดยุบสภา Q4 ปีนี้

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองสถานการณ์ทางการเมืองภาพรวม เข้มข้นขึ้น ทุกแห่งในโลกจะยุบสภาก่อนกำหนด โดยในส่วนของไทยคาดอย่างเร็วจะยุบสภาช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรืออย่างช้าไตรมาสแรกปีหน้า

 

 

โดยมีหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านพยายามจี้ในหลายเรื่องที่เป็นจุดอ่อนไหวและผลลบต่อรัฐบาลได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ราคาสินค้าแพง ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านพยายามจี้และเป็นจุดอ่อนไหวของรัฐบาล ซึ่งทั้งฝ่ายค้าน และการแยกขั้วช่วงชิงความได้เปรียบโจมตีรัฐบาล ประมาทไม่ได้ว่า “เสถียรภาพของรัฐบาลจะไม่ถูกกระทบ”

 

ผวาการเมืองทุบซ้ำเศรษฐกิจ รัฐบาลไร้เสถียรภาพ คาดยุบสภาไตรมาส 4

 

“เรื่องสินค้าแพง โดยเฉพาะหมู สิ่งที่รัฐบาลต้องทำตอนนี้อย่าให้ลาม คือ คุมเรื่องต้นทุน และคุมอหิวาต์หมูให้อยู่ อย่าให้พ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า แต่ถ้าเมื่อไรรัฐบาลพลาด ปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบเสถียรภาพทางการเมือง เวลานี้เริ่มจะกระตุกขึ้นมาบ้างแล้ว นอกจากนี้คือการคุมราคาสินค้า ไม่ให้เอากำไรเกินควร”

 

ชี้กระทบเชื่อมั่น-ฟื้นศก.

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การขับ ส.ส. กลุ่มร้อยเอกธรรมนัสออกจากพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพทางการบริหารงานทั้งทางสภาผู้แทนราษฏร ในกรณีการพิจารณากฎหมายที่สำคัญต่อผลกระทบเศรษฐกิจที่เร่งด่วน การบริหารงานรัฐบาลที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการเมืองต่อผู้ประกอบการและประชาชนที่กังวลใจต่อความต่อเนื่องของมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ที่จะส่งถึงแรงงาน และผู้ประกอบการ

 

“ภาพรวมเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ รับผิดชอบ ทั้งด้านความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการ การตรวจสอบติดตามประเมินผล และแก้ไขปรับปรุงมาตรการที่ต้องอาศัยการกระตุ้นผลักดันให้เกิดการตอบสนองอย่างจริงจังในการปฏิบัติเป็นรูปธรรม"

 

อสังหาฯชี้ไม่น่ากังวลมาก

ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ความขัดแย้งในพรรครัฐบาลนั้น ยังประเมินไม่ได้ ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ แต่หากผู้นำในกระทรวงหลักต่างๆ ยังเป็นบุคคลเดิม สามารถทำงาน ได้และออกนโยบายการลงทุนใหม่ๆ ออกมา ก็คงไม่น่ากังวลมากนัก

 

อย่างไรก็ดีปัจจัยการเมือง มีผลต่อจังหวะการทำธุรกิจในปีนี้ เพราะต้องยอมรับว่า ความไม่แน่นอนของโอมิครอน, ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงกรณีล่าสุด ไทยสั่งยกเลิกนโยบาย test & go ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจ ปี 2565 กลับมาเปราะบางอีกครั้ง แม้จะถูกประเมินว่าอย่างไรเสีย ปีนี้ จีดีพีไทยจะเติบโตได้ แต่เป็นเพียงจากฐานที่ต่ำ

 

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า แรงกระเพื่อมทางการเมืองที่เกิดขึ้น มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจัยที่กระทบจะเป็นเรื่องของโอมิครอน และการควบคุมการระบาดในการเข้าประเทศมากกว่า

 

อีกทั้งในขณะนี้ ศบค. มีมติเปิดรับผู้เดินทางประเภท Test & Go ให้เริ่มลงทะเบียน ThailandPass ได้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักไปจะเริ่มกลับมาเดินทางต่ออีกครั้ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้าไทยจะเป็นนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go กว่า 70-80%

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3751 วันที่ 23 – 26 มกราคม 2565