ม.มหิดล แนะทุกวัยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อไปต่อในยุค “New Normal”

25 ธ.ค. 2564 | 12:42 น.

นักวิชาการ ม.มหิดล ห่วงวิกฤติช่วงวัย แนะปรับตัวรับปีใหม่ “อยู่กับ COVID-19” ยาวๆ อย่างมีสติ ชี้ประชากรที่ไม่สามารถปรับตัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญประชากรศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ช่วงวัย(Generation) เปิดเผยว่า วิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกช่วงวัย ทำให้ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถไปต่อได้ในยุค “New Normal”

 

ไม่ว่าจะเป็น “Silent Generation” (รุ่นทวด) “Baby Boomer Generation” (รุ่นปู่-ย่า-ตา-ยาย) “Generation X” (รุ่นพ่อ-แม่) “Generation Y” (รุ่นพี่-น้า/อา) และ “Generation Z” (รุ่นลูกอายุประมาณไม่เกิน 17 ปี) จากการที่กิจกรรมทางสังคมต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบออนไลน์เกือบ 100% ตามมาตรการรักษาระยะห่าง พบว่าประชากรในกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ริ่มตั้งแต่ “Silent Generation” ที่มักพบว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เหมือนเป็น “Island Generation” เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดทักษะทางดิจิทัล (Digital Literacy) เช่นเดียวกับ “Baby Boomer Generation” ซึ่งอยู่ในวัยเกษียณมีบางส่วนที่ยังปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี และบางส่วนใช้เทคโนโลยีแต่ขาดความเท่าทัน โดยพบว่ามักตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงจากโลกโซเชียล

 

ในขณะที่ “Generation X” ซึ่งเป็น “Sandwich Generation” ที่อยู่ตรงกลางของทุกช่วงวัยโดยมีบางส่วนอยู่ในวัยทำงานช่วงใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นถึงผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ เปรียบเหมือนหัวเรือใหญ่ขององค์กร หรือ “Critical Generation” อาจพาองค์กร หรือกิจการล่มได้ หากไม่มีการปรับตัววางแผนล่วงหน้าแบบ“Proactive” ที่ดีพอ เพื่อรองรับสังคมแบบ “New Normal”

นอกจากนี้ ใน “Generation Y” ซึ่งถึงแม้ไม่ได้เกิดในยุคดิจิทัล แต่ก็โตมาพร้อมการเติบโตของโลกดิจิทัล ในบางรายที่เรียนมาในสาขาที่ไม่มีพื้นฐานทางดิจิทัล อาจประสบปัญหาในการประกอบวิชาชีพ จึงต้องมีการปรับตัวด้วยการ Upskill หรือเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัลเพิ่มเติมถึงจะสามารถไปต่อไปได้อย่างราบรื่น

 

ในขณะที่ “Generation Z” ซึ่งถึงแม้เกิดในยุคดิจิทัล และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เรียกได้ว่าเป็น“Digital Native” แต่ในทางกลับกันก็อาจตกเป็นเหยื่อของโลกโซเชียลได้อย่างง่ายดาย จากการขาดความเท่าทันได้เนื่องจากเป็นวัยที่มีประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากพอ

 

สถานการณ์ COVID-19 ดึงเอากิจกรรมของทุกคน ทุกGeneration เข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งมีทั้งด้านมืด และด้านสว่าง กระบวนทัศน์ที่สำคัญคือการทำให้ทุกคนดำเนินชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างชาญฉลาด ทำมาหากินได้ อยู่ร่วมกันได้ ไปพร้อมกันได้ ร่วมงานกันได้ ช่วยเหลือกันได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเหลือใครเป็นเหยื่อ สร้างทุนทางสังคมให้พื้นที่ดิจิทัลเป็นพื้นที่ของทุก Generation อย่างเท่าเทียมและแท้จริง”