เงินเยียวยาล่าสุดวันนี้ 2564 ประกันสังคมตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

06 ธ.ค. 2564 | 11:00 น.

เงินเยียวยาล่าสุดวันนี้ 2564 ผู้ประกันตนมาตรา 33, ม. 39 และมาตรา 40 ตั้งกองทุนคุ้มครอง แรงงานนอกระบบแล้วเช็คด่วน

อัพเดท เงินเยียวยาประกันสังคม มาตรา 33,มาตรา 39 และ มาตรา 40 เกาะติดความคืบหน้าล่าสุดภายหลังรัฐบาลได้อนุมัติเงินเยียวยา นายจ้าง และ ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่

 

9 ประเภทกิจการ ในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

  • ก่อสร้าง
  • ที่พักแรมบริการด้านอาหาร
  • ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
  • กิจกรรม บริการด้านอื่นๆ
  • การขายส่งขายปลีก ซ่อมยานยนต์
  • การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
  • กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
  • กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ
  • กิจกรรมทางวิชาการ สาขาข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร

29 จังหวัดสีแดงเข้ม

 

แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามการประกาศล็อคดาวน์ ดังนี้

  • 10 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
  • 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา
  • 16 จังหวัด กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

 

 

สำนักงานประกันสังคม

เมื่อเร็วๆนี้ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบใน 9 ประเภทกิจการ ครอบคลุมพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยได้เริ่มทยอยโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนของผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 , 39 และ 40 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายไปแล้วเป็นเงิน 100,807,738,500 บาท ครอบคลุม นายจ้างจำนวน 176,769 แห่ง และผู้ประกันตนรวมทั้งสิน 12,096,818 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564)
 

 

สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งสถิติปี 2563 ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวน 20.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 53.8 ของผู้มีงานทำทั้งหมด 37.9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด ร้อยละ 55.6 รองลงมาคือภาคการค้าและบริการ ร้อยละ 34.1 และภาคการผลิต ร้อยละ 10.3 รัฐบาลมีนโยบายดูแลเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพและหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุม โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ การช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือองค์กรแรงงานนอกระบบ รวมถึงการให้แรงงานนอกระบบสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม

 

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ขอเชิญชวนให้มาสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 40 เพราะจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม กรณี เช่น ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ ตาย และขณะนี้ รัฐบาลได้ขยาย อายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เป็น 65 ปี ทั้งนี้ในระยะต่อไป เมื่อกองทุนฯได้จัดตั้งเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนประกอบอาชีพ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพ” นางสาวรัชดา กล่าว.