สะพัดวงการรับเหมา ซีพีซุ่มเจรจาแก้สัญญาใหม่ “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน”

01 ธ.ค. 2564 | 00:00 น.

สะพัดวงการรับเหมา ไฮสปีดเทรน "ได้คืบจะเอาศอก" หลังแก้สัญญาแอร์พอร์ตลิงก์ยืดจ่ายค่าสิทธิบริหาร ดอดเจรจาสัญญาก่อสร้างโครงการใหม่ ดึงเงินชดเชยค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกว่าแสนล้านบาท มาใช้ก่อน หลังปิดดีลสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ไม่ลงตัว

แหล่งข่าววงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า กลุ่มซีพี.เพิ่งประสบผลสำเร็จในการดำเนินการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง เจ้าของธุรกิจ ซี.พี. เฟรชมาร์ท และ 7-11 และแมคโคร กับเทสโก้ โลตัส จนยังผลให้กลุ่มซี.พี.ที่มีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีก-ค้าส่งกว่า 80% โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)ไม่มีการทัดทานใด ๆ และจนถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่มีการติดตามตรวจสอบว่า ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดค้าปลีก ค้าส่งและประชาชนอย่างไร

 

 

 

ล่าสุดทำความตกลงกับบริษัท เทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชัน หรือ”ดีแทค” เพื่อกรุยทางไปสู่การควบรวมกิจการ "ทรูและดีแทค" ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์ของสังคม ด้วยหวั่นเกรงว่าจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยถูกครอบงำและผูกขาด เหลือผู้ให้บริการอยู่เพียง 2 ค่ายใหญ่ ทำให้ปราศจากการแข่งขัน และมีแนวโน้มที่ผู้ใช้บริการจะถูกเอาเปรียบ

 

 

 

 อีกทั้ง ช่วงที่ผ่านมากลุ่มซีพี.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอเซีย เอราวัณ จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล และการรถไฟฯ ในการขอยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท จากที่ต้องจ่ายให้การรถไฟภายในวันที่ 24 ต.ค.64 โดยบริษัทได้ขอยืดเวลาการจ่ายค่าสิทธิ์ดังกล่าวออกไปอีก 10 ปี ด้วยข้อโครงการได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และ วิกฤตโควิด- 19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าประมาณการที่คาดไว้ แต่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ที่ผ่านมา ได้เห็นขอบให้ขยายเวลาจ่ายค่าสิทธิ์ไปเพียง 6 ปี ทั้งที่บริษัทเอกชนยังไม่ได้เข้าไปบริการโครงการแต่อย่างใด

 

 

 

 ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า กลุ่มทุนรายนี้ คงจะพยายามขอแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อขอให้รัฐจ่ายเงินชดเชยเงินค่าก่อสร้างที่บริษัทขอรับการสนับสนุนจำนวน 1.17 แสนล้านออกมาใช้ก่อนแน่ จากเงื่อนไขการประมูล TOR และสัญญากำหนดไว้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยการก่อสร้างให้บริษัทผู้รับสัมปทานหลังเปิดให้บริการไปแล้ว (ประมาณปีที่ 6 ขึ้นไป)

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยเฉพาะในส่วนของการระดมทุนของบริษัท เอเซีย เอราวันจำกัด ที่มีกลุ่มทุนซีพี เป็นแกนนำนั้นพบว่า แม้บริษัทจะลงนามในสัญญากับการรถไฟฯไปตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.62 แต่จนถึงขณะนี้ที่เวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปี บริษัทยังไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับโครงการได้ 

 

 


"ตามไทม์ไลน์นั้น บริษัท เอเซียเอราวัณจะต้องระดมทุนกว่า 200,000 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถปิดดีลเซ็นสัญญากับแหล่งเงินกู้ได้ เพราะสถาบันที่เคยแสดงความจำนงให้การสนับสนุนโครงการนี้ ตั้งเงื่อนไขเอาไว้สุดเข้มงวด ทำให้บริษัทอยู่ในสภาพหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง  จึงเชื่อแน่ว่ากลุ่มซีพี คงจะพยายามหาทางเจรจาเพื่อขอแก้ไขสัญญาสัมปทานกับภาครัฐ เพื่อขอให้รัฐจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่รัฐจะให้การสนับสนุน จำนวน 117,000 ล้านบาท ออกมาใช้ก่อน"

 

 

 


นอกจากนี้ หากย้อนไปดูข้อเสนอของกิจการร่วมค้า CPH  ในช่วงเจรจาจัดทำร่างสัญญาโครงการ ภายหลังจากที่การรถไฟฯ ประกาศให้เป็นผู้ชนะประมูลไปเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2561 และ ครม.ได้รับทราบผลการประมูลไปแล้ว แต่กว่าที่การรถไฟฯ และกลุ่มซีพี.จะเจรจาจัดทำร่างสัญญาโครงการกันลงตัว ก็ใช้เวลาเจรจายืดเยื้อกันมาเป็นปี กว่าจะลงนามในสัญญากันได้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 

 

 


มูลเหตุการเจรจาจัดทำร่างสัญญายืดเยื้อไปนั้น  ก็เพราะบริษัทได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมนอกขอบเขตเงื่อนไขการประมูล(TOR ) มาถึง 12 ข้อด้วยกัน โดย 1 ในข้อเสนอที่ว่าก็คือการขอให้รัฐบาลจ่ายชดเชยการก่อสร้างที่รัฐจะให้การสนับสนุนจำนวน 117,000 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปีที่ 1-6 จากเงื่อนไข TOR ที่รัฐบาลจะจ่ายเงินขดเชยให้หลังเปิดให้บริการไปแล้ว
   

"จากสถานการณ์ทางการเงินที่กำลังบีบเค้นกลุ่มซีพี.อยู่ในเวลานี้ จึงเชื่อแน่ว่า บริษัทคงจะหาหนทางเจรจาพลิกช่อง เพื่อขอให้รัฐจ่ายเงินชดเชยการก่อสร้างโครงการออกมาใช้ก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน "

 

 


  แหล่งข่าวระดับสูงในการรถไฟ เปิดเผยว่า แม้จะมีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะร้องขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยการก่อสร้างให้ก่อน แต่เรื่องดังกล่าวคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเอง  การรถไฟฯคงไม่สามารถอนุมัติให้ได้แต่ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ

 

 


"ลำพังแค่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม. ) อนุมัติให้บริษัทยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ออกไป 6 ปี สังคมก็วิพากษ์วิจารณ์รถไฟกันอย่างหนักว่า เอื้อประโยชน์แก่เอกชนมากพออยู่แล้ว  เพราะบริษัทยังไม่ได้รับโอนโครงการ ในการเข้าไปบริหาร แต่กลับมาขอแก้ไขสัญญาไปก่อนแล้ว  หากบริษัทยังได้คืบจะเอาศอกมาขอแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอีก เชื่อแน่ว่าคนในการรถไฟฯและสังคมคงรับไม่ได้แน่ เพราะในขณะที่การรถไฟฯยังแบกหนี้สินสะสมอยู่กว่า 1.6 แสนล้าน แต่รัฐบาลกลับเอื้ออาทรยอมผ่อนปรนขยายเวลาจ่ายหนี้ให้กับบริษัทเอกชน ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรจะได้เข้ามาช่วยเหลือกิจการรถไฟได้

 

 

 


นายคณิศ  แสงสุพรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า กรณีที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือซีพี ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง  สุวรรณภูมิ  อู่ตะเภา) ขอขยายเวลาจ่ายค่าสิทธิ์แอร์พอร์ต เรล ลิงก์  วงเงิน 10,671 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา  ตามกระบวนการทางรฟท.และคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาจะร่วมหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรและจะมีการแก้ไขสัญญาหรือไม่ หากต้องดำเนินการแก้ไขสัญญาจะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ โดยมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเอกชนได้ชำระเงินค่างวดแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 1,067 ล้านบาท หรือ 10% ของวงเงินที่ต้องจ่าย