แนะธุรกิจปรับทัพ-ขยับลงทุน รับเปิดประเทศและกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล

29 พ.ย. 2564 | 11:26 น.

ขุนพล “ดีแทค” และ “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” ย้ำความท้าทายในปีหน้า คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยีเข้ายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ยิ่งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัว ก็ยิ่งเห็นแนวโน้มชัดขึ้น องค์กรธุรกิจพร้อมรับกระแสแห่งเทคโนโลยีกันแล้วหรือยัง

งานสัมมนาเวอร์ชวล ฟอรัม “Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 29 พ.ย. 2564  ภายใต้หัวข้อ “ธุรกิจปรับทัพ ขยับลงทุนรับเปิดประเทศ” สองผู้บริหารคนสำคัญของกลุ่มทุนชั้นแนวหน้าจากยุโรป “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” และ “เทเลนอร์” ในนาม “ดีแทค” มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายและเทรนด์สำคัญทางธุรกิจที่กำลังพุ่งเข้าใส่ในปีหน้า    

 

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค เปิดประเด็นแนวโน้มหรือเทรนด์สำคัญของธุรกิจในปีหน้า (2565) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อุบัติขึ้นมา ทำให้โลกยิ่งเห็นความจำเป็นของการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในชีวิต (digitalization) การถูกจำกัดการเดินทาง การต้องทำงานจากบ้าน ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทำให้ชีวิตยังดำเนินไปอย่างราบรื่นได้อย่างไร เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปรับตัว

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)

“หลังจากมีโควิด-19 อุบัติขึ้น โลกก็ยิ่งต้อง “เร่ง”การรับเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่งในอนาคตข้างหน้านั้น รัฐต้องยิ่งเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนบางกลุ่มซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลที่จำเป็นเหล่านี้ได้อย่างทั่วหน้า” ซีอีโอของดีแทคย้ำและว่า

 

ดีแทคเองให้ความสำคัญกับการเตรียมองค์กรสู่อนาคต รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะมีในวันข้างหน้า บริษัทต่าง ๆ ต้องมีทักษะในการให้บริการ มีบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญ มีการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการ ซึ่งบางครั้งหมายถึงการใช้ประโยชน์จากขนาดขององค์กรที่ใหญ่ขึ้น (scale up) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน  ยกตัวอย่างในมาเลเซียเมื่อเร็ว ๆนี้ เทเลนอร์ได้ควบรวมกิจการกับของบริษัทโทรคมนาคมท้องถิ่นของมาเลเซีย เพื่อสามารถให้บริการที่ดีขึ้นและแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น 

 

ในประเทศไทย อย่างที่เป็นข่าวทราบกันดีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดีแทคจับมือกับทรู พันธมิตรท้องถิ่นเพื่อร่วมกันสร้างบริษัทใหม่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะนำสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละฝ่ายผสานเข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอบริการที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย และแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นในระดับที่กว้างไกลมากขึ้น

 

เขามองว่า ความท้าทายในอนาคตก็คือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ชีวิตดีขึ้น ในราคาที่จับต้องได้สำหรับผู้คนทั่วไป (digital inclusion) ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และแน่นอนว่า ท่ามกลางบริบทที่ผู้คนก้าวเข้ามาอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้น และมีการใช้ข้อมูลออนไลน์มากขึ้น ดีแทคจะให้ความสำคัญกับการรักษาพื้นที่ส่วนตัว ข้อมูลส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า (privacy & security) เป็นอันดับหนึ่ง

 นอกจากนี้ ในฐานะองค์กรธุรกิจ ดีแทคยังต้องตอบโจทย์พันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นพันธกิจในระดับโลกด้วย เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก เป็นประเด็นระดับโลกที่องค์กรธุรกิจเอกชนให้คุณค่าความสำคัญ ดีแทคเองมีเป้าหมายเป็นองค์กรธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ลดการสร้างขยะ-ลดการปล่อยคาร์บอน โดยมีเป้าหมายจะทำให้ได้ในปี 2023 ส่วนในแง่ของจนวนผู้ใช้บริการนั้น บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มจาก 6 ล้านรายในปัจจุบันเป็น 10 ล้านรายในปี 2023

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ของบริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค  

ด้าน นายสเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ของบริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ตัวแทนจากกลุ่มพลังงานสะอาด มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในองค์กร กล่าวว่า เขามองเห็นภาพใหญ่ของสิ่งที่จะเป็นแนวโน้มของธุรกิจและขณะเดียวกันก็จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในปีหน้า 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

 

  • ประการแรก ทั้งภาครัฐและเอกชนจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้จากการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP26 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อเร็ว ๆนี้ ที่ประเทศสกอตแลนด์ ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องลดการสร้างภาวะโลกร้อน ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งภาครัฐและเอกชนจะมุ่งไปในทางนี้
  • ประการที่สอง การใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้า ซึ่งหมายรวมถึงการผลักดันใช้รถยนต์ไฟฟ้า
  • ประการที่สาม การนำเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) เข้ามาในชีวิตประจำวันของผู้คน

 

ซึ่งกล่าวได้ว่าทั้งสามเทรนด์ข้างต้นนั้น ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีความเชี่ยวชาญ ทั้งยังเป็นผู้นำเสนอโซลูชันในการบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว “เราพร้อมที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้พร้อม ๆไปกับภาครัฐ นอกจากนี้ยังมองว่า แนวโน้มสำคัญอีกประการคือ ศูนย์ข้อมูลดิจิทัล (data center) ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกมากในประเทศไทยพร้อมๆ ไปกับการก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล” 

 

สำหรับชไนเดอร์ อิเล็คทริคเองนั้น ให้ความสำคัญกับการเป็นองค์กรระดับโลกที่เข้าถึงความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ บริษัทมีสำนักงานระดับภูมิภาคและสาขาท้องถิ่นที่มีพนักงานเป็นคนท้องถิ่น 80% ของรายได้บริษัทมาจากบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ พนักงานกว่า 90% ยังเป็นบุคลากรในพื้นที่ ทำให้บริษัทสามารถให้บริการระดับเวิลด์คลาสที่เข้าถึงลูกค้าในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ