สร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี กับ รถไฟฟ้าแทนที่ BRT แบบไหนดีกว่ากัน

28 พ.ย. 2564 | 06:41 น.

ดร.โสภณ พรโชคชัย ชี้เปรี้ยงสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี  กทม.คิดผิดมหันต์  ควรนำพื้นที่สร้างรถไฟฟ้าแทนที่ BRT ที่ไร้ประสิทธิภาพ-กินพื้นที่ถนนมากกว่า ขณะผู้ว่าอัศวิน ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวปอดคนกรุงแห่งใหม่นอกจากการระบายน้ำ

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ทำเลกลางใจเมือง ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊คระบุว่า การพัฒนาคลองระบายน้ำให้เป็นสวนสาธารณะคลองใจกลางเมืองย่านธุรกิจ 

กทม. เป็นเมืองแห่งคลอง ในสมัยก่อนใช้สัญจรและระบายน้ำ ชีวิตคนอยู่กับคลอง  เมื่อความเจริญของเมืองเข้ามา คลองจึงเป็นแค่ที่ระบายน้ำ กทม. ได้พัฒนาคลองให้ได้ใช้ประโยชน์มากกว่าที่ระบายน้ำเพียงอย่างเดียว โดยทำให้เป็นสวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เป็นเป็นที่พักผ่อนของคนเมือง เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย ใช้คลองเชื่อมคน ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

                สร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี กับ รถไฟฟ้าแทนที่ BRT แบบไหนดีกว่ากัน

 ต่อเรื่องนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (www.area.co.th) “ฟังธง” ว่านี่คือการคิดผิดๆ อย่างแน่นอน ผิดอย่างไรมาดูกันให้ชัดๆ ตั้งคำถามและให้ความเห็นว่าการก่อสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีนี้เป็นการคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้ 1.ในโครงการนี้ กทม.ได้ทำประชาพิจารณ์ ว่า

ประชาชนต้องการหรือไม่ หรือมีข้อดีข้อเสียอะไร 2.ควรพัฒนาคลองให้มีความลึกหรือมีอุโมงค์ส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นการระบายน้ำจากศูนย์กลางเมือง ยิ่งกว่านั้นพื้นสีลม-สุรวงศ์-สาทรนี้ถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business Disrict: CBD) ของไทย

ที่ต้องป้องกันน้ำท่วมไว้ให้ดีที่สุด จะเห็นได้ว่า CBD หรือศูนย์กลางธุรกิจของไทย ถูกล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านทั้งด้านตะวันออก ใต้และตะวันตก โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมมีมาก ควรรักษาคลองนี้ไว้เพื่อการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม

3. หาก สร้างจริงควรที่จะสร้างคร่อมบนคลองแทนที่จะวางตัวสวนบางส่วนไว้ต่ำกว่าระดับถนน เพียงเพื่อหวังความสวยงามทางภูมิสถาปัตยกรรม แต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลงหรือไม่ หรือไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำตามที่สมควรดำเนินการ

  4. ยิ่งกว่านั้นลำคลองนี้ควรที่จะนำมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายช่องนนทรี-พระราม 3-รัชดาภิเษก-ท่าพระ เพื่อทดแทนรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษในกทม.(Bus Rapid Transit: BRT) ซึ่งเป็นระบบที่ล้าหลัง ขาดประสิทธิภาพ ขาดทุนมหาศาลมาโดยตลอด และเป็นระบบที่กินพื้นที่ถนนไป 2 ช่องทางจราจร 

  5. ที่กรุงเทพมหานคร “คุย” ว่าจะสร้างต้นไม้เพิ่มขึ้น 5,000 ต้น  แต่การก่อสร้างนี้ต้องรื้อถอนต้นไม้จำนวนมหาศาลที่มีอยู่แล้วทั้งหมดหรือไม่  โดยกทม.อ้างว่าจะก่อสร้างระยะทาง 9 กิโลเมตร ทั้งไปและกลับ  แต่ปัจจุบันมีต้นไม้ทุกระยะประมาณ 5 เมตร  ดังนั้นต้องรื้อต้นไม้เดิมทิ้งจำนวน 1,800 ต้นใช่หรือไม่

  6. อันที่จริงกทม.ยังมีทางเลือกในการพัฒนาสวนริมคลองในช่วงอื่น เช่น ช่วงสาทร-สีลม โดยสามารถก่อสร้างสวนลอยฟ้ายกระดับจากพื้นดินและอยู่ใต้ Skywalk ปัจจุบัน  นอกจากนี้ในช่วงสีลม-สุรวงศ์บนคลองช่องนนทรี ก็สามารถนำมาก่อสร้างสวนสาธารณะได้เช่นกัน  โดยในช่วงดังกล่าวนี้ กรุงเทพมหานครได้ทำเป็นสวนไว้แล้ว แต่การออกแบบไม่สวยงามเท่าที่ควร และการใช้สอยมีจำกัดมาก  กรุงเทพมหานครจึงควรเลือกพัฒนาในบริเวณเหล่านี้ให้ดีก่อนที่จะคิดมาทำบนคลองช่องนนทรีที่ทำอยู่ในขณะนี้

 เดินหน้าก็เสียหาย ถอยหลังก็เสียหน้า จะเอาไงดีครับท่านผู้ว่าฯ (ที่ คสช.แต่งตั้ง)