“หม้อแปลงจมน้ำ” นวัตกรรมคนไทย ลดอุบัติภัยจากไฟฟ้า สู่ปรับภูมิทัศน์เมือง

31 ต.ค. 2564 | 02:46 น.

“เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า”สั่งลุยส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ชูหม้อแปลงชนิดจมน้ำรับระบบสายไฟฟ้าใต้ดินปรับทัศนียภาพเมืองให้สวยงามทำรายได้เพิ่ม ตั้งเป้าปี 65 ลุย 5 ตลาดส่งออกใหญ่หวังรายได้แตะ 500 ล้าน

 

นายประจักษ์  กิติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ (ฝายพัฒนาผลิตภัณฑ์กับนวัตกรรม) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯได้พัฒนาด้านเทคโนโลยี “หม้อแปลงฟ้าระบบจำหน่ายชนิดจมน้ำ” ซึ่งได้รับนวัตกรรมไทย รหัส 07020011 ได้ขึ้นทะเบียน ระหว่างปี 2562-2570 ระยะเวลา 8 ปี  มีชื่อทางการค้าของผลงานนวัตกรรมไทย : ว่า  หม้อแปลงฟ้าระบบจำหน่ายชนิดจมน้ำ (Submersible Type Distribution Transformer)  

 

“หม้อแปลงจมน้ำ” นวัตกรรมคนไทย ลดอุบัติภัยจากไฟฟ้า สู่ปรับภูมิทัศน์เมือง

 

หม้อแปลงดังกล่าวมีคุณสมบัติตามที่ระบุในนวัตกรรมว่า เป็นหม้อแปลงในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ใช้ในการปรับลดแรงดันไฟฟ้าที่ส่งผ่านมาตามสายระบบจำหน่าย (Distribution Line) ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยที่หม้อแปลงชนิดนี้เป็นหม้อแปลงแบบน้ำมัน (Oi Type) จะใช้น้ำมันสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นฉนวนในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรในตัวหม้อแปลงการออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายชนิดจมน้ำให้มีการป้องกันการลัดวงจรจากการจมน้ำโดยได้มีการทดสอบตามข้อกำหนดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งหม้อแปลงสามารถติดตั้งในห้องหม้อแปลงใต้พื้นดิน ชนิดบ่อเปียก (Wet Vault) ได้ เพื่อรองรับระบบการเดินสายไฟฟ้าใต้ดิน (Underground Cable)

 

ทัศนียภาพสายไฟฟ้าบนดิน

 

ปัจจุบันการนำระบบสายไฟฟ้าลงดินมีการพัฒนาไปมาก ที่ผ่านมามีการนำระบบไฟฟ้าลงดินนั้นยังคงเหลือหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่คงอยู่บนดิน หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดจมน้ำ เป็นนวัตกรรมที่เรานำมาตอบโจทย์สำหรับการจำหน่ายไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งหม้อแปลงจมน้ำเหมาะกับพื้นที่ที่มีจำกัดในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า  เช่น พื้นที่ทางเท้าที่แคบ พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม หรือพื้นที่ที่ต้องการทัศนียภาพสวยงาม ซึ่งการติดตั้งหม้อแปลงชนิดนี้สามารถทำงานในสภาวะจมน้ำ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถจมน้ำลึกถึง 3 เมตรเหนือระดับฝาถังหม้อแปลง และหม้อแปลงดังกล่าว ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยไว้แล้ว โดย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ที่เป็นผู้คิดค้น และผลิต

 

ทัศนียภาพหลังนำสายไฟฟ้าลงดิน

 

นายประจักษ์ กล่าวอีกว่า ระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบสายส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าไว้ใต้พื้นดิน โดยเดินร้อยท่อฝังดินในโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสายเคเบิล และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการนำส่งไฟฟ้าโดยเฉพาะ จึงมีความปลอดภัยต่อการใช้งานสูง อีกทั้งยังเพิ่มความสวยงามให้กับทัศนียภาพในชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบสายไฟฟ้าใต้ดินนั้นจะทำให้ระบบไฟฟ้าใต้ดินมีความปลอดภัยต่อสาธารณะและด้านอัคคีภัย รวมทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีเสถียรภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนของกรุงเทพมหานคร  

 

“หม้อแปลงจมน้ำ แก้ไขปัญหาหม้อแปลงที่ติดตั้งบนเสาไฟ ทำให้ทัศนีย์ภาพไม่น่าดู เกะกะ  การนำหม้อแปลงลงดิน จะมีประโยชน์ต่อสังคมและพี่น้องประชาชน ในด้านความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ป้องกันการเกิดอัคคีภัย พร้อมกันนั้น ยังสร้างทัศนีย์ภาพที่สวยงามให้เมือง แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  พร้อมช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่ให้แก่ประชาชน เนื่องจากในขณะนี้เมืองต่าง ๆ มีการขยายตัวใหญ่ขึ้น ประชากรเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจการค้าเติบโตต่อเนื่อง ทำให้มีปัญหาเกี่ยวเกิดขึ้นกับหม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟ  ไม่ว่าจะน้ำท่วม ต้นไม้พาดเกี่ยว สัตว์เลื่อนคลานทำให้เกิดอุบัติเหตุ สร้างความเสียหายทำให้เกิดอัคคีภัย ระบบไฟฟ้าสัดวงจร หากเรามีการนำหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่บนเสาลงดิน จะทำให้ลดความเสี่ยงด้านอัคคีภัย เกิดความปลอดภัยและไฟฟ้าเกิดความ เสถียรภาพ ส่งผลให้ทัศนียภาพสวยงาม สามารถปลูกต้นไม้ในเมืองมากขึ้นและร่วมไปถึงส่งเสริมการค้าขาย”

 

นายประจักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หม้อแปลงไฟฟ้าจมน้ำ เกิดขึ้นนานเกือบประมาณ 100 ปี ตั้งแต่ปี 1925 บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญในนวัตกรรมดังกล่าวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอัคคีภัยจากหม้อแปลงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บนเสา   และเพื่อสร้างความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน และสังคม จึงได้คิดค้นหม้อแปลงจมน้ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ และเป็นสินค้า บัญชีนวัตกรรมไทย ที่มีการกำหนดพัสดุและวิธีกาจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน

 

สำหรับตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าในปี 2564 ทางบริษัทฯ ได้ทำการตลาดอาเซียน มียอดจำหน่าย เฉพาะหม้อแปลงฯบนดิน 300 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ทั้งตลาดอาเซียน ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย ทางบริษัท กำหนดเป้าหมายการตลาดไว้ 500 บาท ซึ่งในเป้าหมายนี้ รวมหม้อแปลงไฟฟ้าบนดิน กับหม้อแปลงจมน้ำด้วย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 70-80% เนื่องจากการเจริญเติบโตของเมือง และ ประชากรต้องพึ่งพาการใช้พลังงานแบบเสถียรภาพ ยั่งยืน และปลอดภัย

 

ประกอบกับเมืองพื้นที่มีราคาแพงขึ้น มีความแออัด ต้นไม้ต้องตัดตลอด หรือ ไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้ จึงทำให้เมืองมีแต่มลพิษ และขาดความปลอดภัย ต่อประชาชน และ พนังงานของการไฟฟ้า ฉะนั้น smart cities ที่ดีต้องมีความเสถียรภาพ มั่งคั่ง ปลอดภัยจากระบบ ไฟฟ้า ระบบ Submersible Transformers Systems จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างความปลอดภัย ส่งเสริมการค้า ปลูกป่าในเมือง สร้างภูมิสถาปัตย์ และ ส่งเสริมการค้าต่อประชาชน