วัคซีนใบยา เปิดรับอาสาสมัครอายุ 61-75 ปี ทดลองฉีดวัคซีนเฟส 1

27 ต.ค. 2564 | 05:00 น.

วัคซีนใบยา เปิดรับอาสาสมัครผู้สูงอายุที่มีอายุ 61-75 ปี ทดลองฉีดวัคซีนเฟส 1 จำนวนจำกัด ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน สมัครช่องทางใด เช็คได้ที่นี่

เรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จไปอีกขั้น สำหรับ วัคซีนใบยา วัคซีนป้องกันโควิด-19 สัญชาติไทยชนิด subunit vaccine ที่ผลิตจากพืชใบยาสูบ โดยใช้เทคโนโลยีนำโปรตีนจากพืชมาสร้างเลียนแบบไวรัส ผลงานของสองนักวิจัยไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise)

หลังจากก่อนหน้านี้ได้เริ่มดำเนินการทดสอบในกลุ่มอายุ 18-60 ปีไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ย.2564 เบื้องต้นพบว่า อาสาสมัครที่เข้ารับการฉีดวัคซีนปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น

ล่าสุดเดินหน้าเปิดรับสมัครอาสาสมัครใน "กลุ่มผู้สูงอายุ" อายุระหว่าง 61-75 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเพื่อเข้าร่วมโครงการทดสอบ วัคซีนใบยา ซาร์สโควีทูแวกซ์ 1 (Baiya SARS CoV-2 Vax 1) เพื่อการทดสอบวัคซีน ระยะที่ 1 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

คุณสมบัติผู้เข้ารับทดลองฉีดวัคซีนใบยา

  • รับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี
  • มีอายุระหว่าง 61 – 75 ปี
  • อาสาสมัครต้องยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปได้ที่ลิงก์ https://baiya-recruit.clinsearch.co.th/register พร้อมกรอกข้อมูลทำแบบประเมินตนเอง 

ทั้งนี้ ท่านที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปเพื่อประสานงานนัดหมายตามข้อมูลที่ท่านระบุไว้ โดยทางโครงการจะปิดรับสมัครทันทีเมื่อมีผู้สมัครเข้ามาเต็มจำนวนที่กำหนด

รศ.ดร.วรัญญู ระบุว่า นักวิจัยไทยมีความพยายามและหาผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยแต่เราต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ซึ่งในกระบวนการขอวัคซีนใบยาในเฟสแรกนี้ น่าจะสิ้นสุดในปีนี้และพร้อมดำเนินการในเฟส 2 ทันที

นอกจากนี้คณะนักวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้คนไทยได้ใช้ในช่วงกลางปี 2565 โดยจะปรับปรุงศักยภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีขึ้น

สำหรับกำลังการผลิตวัคซีนใบยานี้ ตอนนี้คนไทยจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนไปแล้วซึ่งใบยาเอง พื้นที่การผลิตที่มีอยู่ในโรงงานของจุฬาฯ  สามารถผลิตได้ 60 ล้านโดสต่อปี และมีแผนที่จะขยายกำลังผลิตไป 300-500 ล้านโดส

เมื่อมีองค์ความรู้ในการพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเองแล้ว ประเทศไทยของเราก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้ออื่น ๆ ในอนาคตได้ทันการณ์