ขอผ่อน10งวด หมื่นล้าน รฟท.เซ็น MOUซีพีเลื่อนจ่ายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

21 ต.ค. 2564 | 00:39 น.

โควิดทำพิษ ! รฟท. รื้อสัญญาร่วมทุน แอร์พอร์ตลิงค์ตามข้อเสนอคู่สัญญา เซ็น MOU ซีพี หรือเอเชีย เอรา วัน จ่ายค่าโอนสิทธิ์ในอีก3เดือนข้างหน้าจาก 24 ต.ค.นี้  พร้อมพิจารณา เงื่อนไขแบ่งชำระ 10 งวด 10,671ล้าน

 

มติที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย  (บอร์ดรฟท.)  ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18ตุลาคม 2564  ขยายเวลาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โอนสิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ออกไปอีก3เดือน จากเดิมวันที่24ตุลาคม พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจหรือMOUต่อไป

โดยให้เหตุผลว่า จากสถานการณ์โควิด-19เอกชนคู่สัญญา เสนอขอผ่อนชำระค่าแอร์พอร์เรลลิงค์ แต่ประสงค์จะเข้าดำเนินการบริหารโครงการในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ตามเงื่อนไขสัญญา เมื่อยังไม่มีการชำระค่าโอนสิทธิ์ จึงต้องถือว่า รฟท.ยังเป็นเจ้าของแอร์พอร์ตเรลลิงค์ต่อไป โดยจะให้ เอเชีย เอรา วันเข้ามาดำเนินการได้ก่อน สามารถส่งพนักงานเข้ามาดำเนินการแทน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งจะต้องโยกย้ายบุคลากรไปให้บริการที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงตามแผน ส่วนการให้บริการจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน

แหล่งข่าวจากรฟท. กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่า จะเร่งลงนาม MOU ร่วมกันก่อน ส่วนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  นั้น เนื่องจากมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามระเบียบและข้อกฎหมาย คือต้องเสนอร่างสัญญาที่มีการแก้ไขให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ รวมถึงผ่านความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กฤษฎีกา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ”

จากเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนฯ ที่ตกลงจะจ่ายค่าแอร์พอร์เรลลิงค์จำนวน 10,671.090 ล้านบาทเป็นก้อนเดียวในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่ง กลุ่มซีพีได้เจรจาขอเลื่อนชำระ พร้อมกับแบ่งชำระ 10 งวด (10 ปี) ซึ่งคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการฯ ได้มีการเจรจากับบริษัทฯ แบ่งชำระเหลือ 6 งวด (6 ปี) โดยปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% ปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7% ซึ่งกรณีแบ่งชำระเอกชนต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม โดยค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) จะอยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 1,034.373 ล้านบาท  

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากเซ็น MOU แล้วจะมีการเจรจากันอีก ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนงวด รวมถึงการเริ่มจ่ายงวดแรกเมื่อใด โดยจะประเมินโควิดด้วยเนื่องจากจะส่งผลต่อจำนวนผู้โดยสารที่จะกลับเป็นปกติ  

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง220กิโลเมตร มูลค่า 224,544 ล้านบาท  คู่สัญญาร่วมลงทุนรฟท.50ปี คือ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด  กลุ่มซีพีและพันธมิตร) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะต้องชำระเงินค่าโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงค์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท ให้ รฟท.วันที่ 24 ต.ค. 2564 หรือ 2 ปีหลังลงนามสัญญา เพื่อเข้าบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงค์