อันดับโลกดิ่ง! หวั่น “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” ฉุด “สุวรรณภูมิ” ให้ร่วงอีก

22 ก.ย. 2564 | 02:31 น.

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" เตือน ทอท. ดันทุรังดันต่อ “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ”ฉุด “สุวรรณภูมิ” ให้ร่วงอีกหลัง อันดับโลกดิ่ง ฝ่าแรงต้านจาก ป.ป.ช. สภาพัฒน์ และองค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร ได้สำเร็จ สนามบินสุวรรณภูมิจะรุ่งหรือร่วง

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก วันที่ 22กันยายน ระบุว่า ในปี 2553 สนามบินสุวรรณภูมิเคยรั้งอันดับ 10 ของโลก น่าเสียดาย! ที่หลังจากนั้นอันดับโลกของสนามบินสุวรรณภูมิร่วงลงมาเรื่อยๆ จนถึงปีนี้อยู่ที่อันดับ 66 หาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ดัน “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” ฝ่าแรงต้านจาก ป.ป.ช. สภาพัฒน์ และองค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร ได้สำเร็จ สนามบินสุวรรณภูมิจะรุ่งหรือจะร่วง?

 

สนามบินสุวรรณภูมิจากอันดับ 10 ดิ่งลงอันดับ 66 ของโลก!อันดับโลกของสนามบินจัดโดย Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินและจัดอันดับสนามบินดีเด่นของโลกเป็นประจำทุกปี โดยสำรวจความเห็นของผู้โดยสารเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการสนามบินหลายรายการ เช่น ความสะอาด ความรวดเร็ว อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและให้ความบันเทิง เป็นต้น ในช่วงระบาดของโควิด-19 Skytrax ได้สำรวจเพิ่มอีกหลายรายการ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การให้บริการเจลล้างมือ และการบังคับสวมหน้ากาก เป็นต้น

สนามบินสุวรรณภูมิเคยรั้งอันดับ 10 ของโลกเมื่อปี 2553 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 13, 25, 38 และ 48 ในปี 2554-2557 ตามลำดับ จากนั้นไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 47 และ 36 ในปี 2558 และปี 2559 ต่อมาร่วงมาอยู่ที่อันดับ 38 ในปี 2560 และไต่กลับขึ้นไปที่อันดับ 36 ในปี 2561 หลังจากนั้นร่วงกราวรูดลงมาอยู่ที่อันดับ 46, 48 และ 66 ในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 ตามลำดับ

อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิร่วงกราวรูด? ทอท.จะต้องรู้และหาทางแก้ให้ถูกจุด อย่าสร้างปัญหาเพิ่มเติมเข้าไปอีกทอท.ยังดัน “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ”

อันดับโลกดิ่ง! หวั่น “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ”  ฉุด “สุวรรณภูมิ” ให้ร่วงอีก

ก่อนการระบาดของโควิด-19  ทอท.ต้องการเพิ่มความจุของสนามบินสุวรรณภูมิด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัลหลังใหม่ด้านทิศเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งไม่มีอยู่ในแผนแม่บท เดิม ทอท.เรียกเทอร์มินัลนี้ว่า เทอร์มินัล 2 แต่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นการตัดรูปเทอร์มินัลมาแปะไว้เท่านั้นโดยไม่ได้ศึกษาความเหมาะสมอย่างละเอียดรอบคอบ ต่อมา ทอท.เรียกอาคารนี้ว่า “ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ”

ด้วยเหตุนี้ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจึงถูกคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร และจากนักวิชาการที่เป็นห่วงว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นานาตามมา ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสนามบิน

อีกทั้ง ยังมีเสียงทักท้วงจากคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ถึง 2 ครั้ง ที่สำคัญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ

โดยสภาพัฒน์และ ป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรวิชาชีพและนักวิชาการได้เสนอแนะให้ ทอท.เร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท

แต่อย่างไรก็ตาม ทอท.ก็ยังคงมีความพยายามที่สร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้ได้ แม้ว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เห็นชอบตามที่ ป.ป.ช. เสนอแนะ นั่นคือไม่เอาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ

ทอท.ยังไม่รื้อ City Garden!

City Garden คืออาคารที่อยู่บนพื้นที่ว่างด้านทิศตะวันออกของเทอร์มินัล 1 ทอท.ได้ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือเคพีเอส สร้างและบริหารอาคารนี้เป็นเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 (วันที่เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ) ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยเคพีเอสได้ทำเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากนั้นจะมีการต่อสัญญาหรือไม่ยืนยันว่าไม่มีข้อมูลแต่รู้ว่ามีการทำสัญญาให้เคพีเอสบริหารอาคารนี้อีกครั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2575

แต่ต่อมา ทอท.ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 มกราคม 2564 ถึงเคพีเอส ขอให้เคพีเอสขนย้ายทรัพย์สินออกจาก City Garden และส่งมอบคืนพื้นที่ให้ ทอท.ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ถึงเวลานี้มีการส่งมอบพื้นที่คืนให้ ทอท.แล้วหรือยัง? ก็ไม่รู้ รู้แต่เพียงว่า ทอท.ยังไม่รื้อ City Garden!

สรุปในช่วงระบาดของโควิด-19 ทอท.ควรฉกฉวยโอกาสในขณะที่มีผู้โดยสารน้อยเร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก (ซึ่งจะต้องรื้อ City Garden) และทิศตะวันตก ตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัลด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทที่มีประสิทธิภาพและยังใช้งานได้ดี ไม่จำเป็นจะต้องสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือซึ่งไม่มีอยู่ในแผนแม่บทให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และที่น่าเป็นห่วงก็คือจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย

ในขณะที่ยังไม่มีส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ อันดับโลกของสนามบินสุวรรณภูมิยังดิ่งลงมาที่อันดับ 66 อย่างน่าใจหาย แล้วถ้ามีส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือที่หลายฝ่ายเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา สนามบินสุวรรณภูมิ “ประตูสู่ประเทศไทย”จะเป็นฉันใด?

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขา ที่ทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้นเท่านั้นเอง