คจร.ไฟเขียว แผนลงทุน MR-MAP- ฟีดเดอร์ เชื่อมสายสีแดง แก้รถติด

20 ก.ย. 2564 | 07:00 น.

บอร์ดคจร.เคาะแผนลงทุน MR-MAP ดัน 4 เส้นทาง ลุยฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟสายสีแดง สั่งการบ้านบอร์ดอีอีซี หนุนแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ 3 จังหวัด

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2564  ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR - Map ที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้จัดทำร่างโครงข่ายเส้นทางเบื้องต้น 10 เส้นทาง โดยมีระยะทางรวม 6,530  กิโลเมตร ประกอบด้วยเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับเส้นทางระบบราง 4,470 กิโลเมตร เส้นทางเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1,710 กิโลเมตร และเส้นทางเฉพาะระบบราง 350 กิโลเมตร โดยได้พิจารณา 4 โครงการนำร่องที่มีศักยภาพ 4 เส้นทาง จากแนวเส้นทางโครงข่ายในเบื้องต้น จำนวน 10 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 91 กิโลเมตร   2. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 283 กิโลเมตร  3.เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง ระยะทาง 297 กิโลเมตร และ 4. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี ระยะทาง 408 กิโลเมตร 

 

 


ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างระบบรางและถนนในการพัฒนาโครงข่ายให้เป็นระบบเชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและประตูการค้า แก้ปัญหาจราจร ลดปัญหาการเกิดคอขวดของการเดินทางทั้งระบบถนนและระบบรางของทั้งประเทศ

คจร.ไฟเขียว แผนลงทุน MR-MAP- ฟีดเดอร์ เชื่อมสายสีแดง แก้รถติด
 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของการจัดทำระบบฟีดเดอร์ (Feeder) รถไฟสายสีแดง  โดยใช้รถโดยสารขนส่งมวลชนแบบพิเศษตามมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดปทุมธานี และคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้จังหวัดปทุมธานี กรมการขนส่งทางบก และกรมทางหลวง ดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และรายงานผลการดำเนินการให้ คจร.รับทราบ 

 

 

สำหรับ 3 เส้นทางระบบฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟสายสีแดง เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้ารังสิต ประกอบด้วย 1.เส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต - ธัญบุรีคลอง ๗ ใช้เส้นทางถนนรังสิต-นครนายก (ทล.305) ระยะทางประมาณ 19.3 กม.  2.เส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนคลองหลวงหน้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทางประมาณ 19.1 กม. เป็นระยะแรกก่อน หากสถานีรถไฟฟ้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) เปิดใช้ ก็พิจารณาปรับเส้นทางต่อไป  และ3.เส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต - แยก คปอ. ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ระยะทางประมาณ 10.6กม. 

 

ส่วนรูปแบบการเดินรถของระบบ Feeder ตามตารางเดินรถที่สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า (On Schedule Services) รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) และรองรับการให้บริการกับทุกคน (Inclusive Transport) และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการหาผู้ประกอบการเดินรถด้วยมาตรฐาน EV รองรับผู้พิการ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเข้าสู่การพิจารณาของ คกก. ขนส่งทางบกกลางต่อไป  ทั้งนี้ให้จังหวัดปทุมธานีและกรมทางหลวง ดำเนินการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางบนถนน ทล.305 ได้แก่ (ก) Smart Bus Stop (ข) ทางเชื่อมสะพานลอยคนข้ามที่เกาะกลาง (ค) ช่องทางพิศษ (Reversible Bus Lane) และ (ง) สัญญาณไฟควบคุมช่องทางพิเศษ ขณะที่เส้นทางที่ ๒ และ ๓ บนถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน ได้แก่ Smart Bus Stop

 


“ที่ประชุมได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงาน สามารถขับเคลื่อนแผนต่าง ๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป”

 


อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) พิจารณาผลักดันแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป 

คจร.ไฟเขียว แผนลงทุน MR-MAP- ฟีดเดอร์ เชื่อมสายสีแดง แก้รถติด