ปลดล็อก 8 เส้นทาง วิ่งความเร็ว120กม./ชม. เช็กเลย

15 ก.ย. 2564 | 12:38 น.

“คมนาคม” ดันทล.-ทช-กรมขนส่งฯ ลงนามร่วมมือใช้ความเร็ว120กม./ชม. เตรียมนำร่องเฟส 3 เพิ่ม 8 เส้นทาง หวังลดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนระหว่าง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.)และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท มีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและรุนแรงลงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้พิจารณาเส้นทางที่จะปรับความเร็วใหม่เพิ่มเติม จำนวน 8 เส้นทาง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 

 

 


สำหรับเส้นทางของกรมทางหลวง  (ทล.) แบ่งเป็น 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม.79+000 – 105+000 ระยะทางรวมประมาณ 26.000 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ กม.23+000 – 31+872 ระยะทางรวมประมาณ 8.872 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย กม.1+000 - 10+000 ระยะทางรวมประมาณ 10.000 กิโลเมตร เส้นทางที่ 4 ทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000 - 80+600 ระยะทางรวมประมาณ 24.600 เส้นทางที่ 5 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.160+000 – 167+000 ระยะทางรวมประมาณ 7.000 กิโลเมตร เส้นทางที่ 6 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.172+000 – 183+500 ระยะทางรวมประมาณ 11.500 กิโลเมตร 
ปลดล็อก 8 เส้นทาง วิ่งความเร็ว120กม./ชม.  เช็กเลย

ขณะที่เส้นทางของกรมทางหลวงขนบท (ทช.) 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 51.700 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 12.400 กิโลเมตร

 

 


ทั้งนี้ถนนทั้ง 8 เส้นทาง กรมทางหลวง (ทล.)  และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต (Barrier) และแถบชะลอความเร็ว (Rumble Strip) ตลอดจนติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง    ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการจราจร และสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ความเร็วของผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแนะนำผู้ใช้ทางให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จะต้องดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งประเมินผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของถนนในอนาคตด้วย

 

 


ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564 ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้ผู้ขับขี่รถใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ตามนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
 

ปลดล็อก 8 เส้นทาง วิ่งความเร็ว120กม./ชม.  เช็กเลย

ล่าสุดก็ได้เปิดเส้นทางนำร่องอีก 6 เส้นทางไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับอัตราความเร็วดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท บูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน ในการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเดินทางบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน และที่สำคัญคือการลดความเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

อย่างไรก็ตามการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง แต่ยังสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตของประชาชนได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัว ในการขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชนไทย