บีทีเอสยกเลิกโปรฯ รายเดือน องค์กรผู้บริโภค วอนรัฐคุมราคาเหมาะสม

03 ก.ย. 2564 | 08:56 น.

สภาองค์กรผู้บริโภค ชี้ BTS ประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือน 30 วัน กระทบผู้บริโภคหนัก วอนรัฐเร่งเจรจาเอกชน คุ้มครองสิทธิ์คนใช้บริการ

3 กันยายน 2564 - จากกรณีที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) ออกประกาศแจ้งผู้ใช้บริการว่าจะยกเลิกโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน โดยอ้างว่าสถานการณ์โควิด ทำให้ผู้โดยสารลดลง โปรโมชัน 30 วันไม่ตอบโจทย์การเดินทางของผู้บริโภคนั้น 

บีทีเอสยกเลิกโปรฯ รายเดือน องค์กรผู้บริโภค วอนรัฐคุมราคาเหมาะสม

นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การประกาศยกเลิกโปรโมชัน 30 วัน ของบีทีเอสในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก เนื่องจากยังมีผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการรถไฟฟ้า เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าที่ต้องเดินทางไปทำงาน เป็นต้น การที่มีโปรโมชันเที่ยว 30 วันดังกล่าวนั้นช่วยแบ่งเบาภาระค่าเดินทางของผู้บริโภคได้ ดังนั้น การที่บีทีเอสนำโปรโมชันดังกล่าวออก จึงเป็นการตัดทางเลือกของผู้บริโภคลงไปอีก และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
 

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ประธานอนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการแล้วสาเหตุที่ทำบีทีเอสสร้างบัตรโปรโมชันแบบรายเดือนขึ้น ก็เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในสถานการณ์ปกติ ซึ่งก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้โดยสารไปในตัว แต่เมื่อเป็นช่วงโควิด - 19 ที่มีผู้โดยสารลดลง และรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อบริษัทฯ ทางบริษัทฯ จึงนำโปรโมชันดังกล่าวออกเพื่อเพิ่มรายได้จากค่าโดยสารราคาปกติ 

 

ขณะเดียวกัน ดร. กมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องบริการสาธารณะ มองว่า ประกาศของบีทีเอสฉบับนี้อาจจะเป็นวิธีการหนึ่งในการขึ้นราคาค่าโดยสารบีทีเอส ซึ่งคนที่ซื้อรายเดือน เมื่อใช้หมดแล้วต้องมาจ่ายเงินซื้อตั๋วราคาเต็ม น้อยที่สุด

 

“ประกาศฉบับนี้อาจจะเป็นกับดักของบีทีเอสและกทม. ที่ร่วมมือกันเพื่อบีบให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน เพราะตอนนี้กทม. มีหนี้ที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับบีทีเอสอยู่เป็นจำนวนมาก”
 

กรรมการนโยบาย ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การที่บีทีเอสจะไม่เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายและยังคงราคาตลอดเส้นระบบเดิมและส่วนต่อขยายหมอชิต - วงเวียนใหญ่ ในอัตราค่าโดยสาร 16 - 44 บาท และ กทม. คงยังไม่เก็บค่าโดยสารจากส่วนต่อขยายใหม่ แต่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถให้บีทีเอสทุกเดือนนั้น จะทำให้ กทม. เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อครบสัญญาสัมปทาน ปี 2572  และเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้ ก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งอาจมองได้อีกแง่หนึ่งว่าเป็นการร่วมมือกันของบีทีเอส และ กทม. เพื่อบีบให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน 

 

ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค