นักวิจัยม.สงขลานครินทร์ค้นพบ“ปูไก่จิ๋ว”ครั้งแรกในไทยที่ภูเก็ต

12 ก.ค. 2564 | 10:44 น.

นักวิจัยม.สงขลานครินทร์ รายงานพบ“ปูไก่จิ๋ว” Epigrapsus politus ครั้งแรกและตัวเดียวในประเทศไทย ณ บริเวณแหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต จุดประกายให้ค้นคว้าเพิ่ม ว่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นหรือพลัดหลงมา 

นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า จากการสำรวจปูไก่ในช่วงปีที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ได้มีโอกาสพบและเก็บตัวอย่างปูไก่ชนิดต่าง ๆ จากบริเวณแหลมพันวา ที่ตั้งของศูนย์วิจัยฯ รวมจำนวน 4 ชนิด

  นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต่อมาจึงได้ศึกษาค้นคว้าจึงพบว่า ปูไก่จิ๋ว Epigrapsus politus เป็นชนิดและสกุลที่ยังไม่ได้มีการรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน โดยเป็นชนิดและสกุลที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปูไก่สกุลอื่น ๆ ที่พบทั่วโลก ซึ่งการใช้ชีวิตของมันค่อนข้างลึกลับ จะพบซ่อนตัวในหาดทรายที่มีหินกรวด หรือเศษปะการังทับถมร่วมกับทราย 
    

การที่สำรวจพบเพียงตัวเดียวทำให้ยากที่จะสรุปได้ว่า ปูชนิดนี้มีแหล่งอาศัยหลักอยู่ในพื้นที่แหลมพันวา หรือแถบชายฝั่งประเทศไทยด้วยหรือไม่

 

หรือแท้จริงแล้วเป็นความบังเอิญ ที่ตัวอ่อนถูกพัดพามาจากเกาะห่างไกล เช่น หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ที่มีรายงานการพบปูชนิดนี้อยู่ก่อนแล้ว จำเป็นที่จะต้องรอการค้นพบตัวปูชนิดนี้เพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อไขปริศนานี้

ปูไก่จิ๋วที่ถูกค้นพบ ณ แหลมพันวา เกาะภูเก็ต
        

 

แหลมพันวา เกาะภูเก็ต ที่นักวิจัยม.สงขลานครินทร์ พบปูไก่จิ๋ว ซึ่งต่อมาพบว่ายังไม่มีรายงานการพบในไทยมาก่อน

"ปูไก่” คือปูที่อาศัยอยู่บนบกตามเกาะต่าง ๆ บางครั้งพบอาศัยห่างจากชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดิน แม้แต่บนภูเขาไกลหลายกิโลเมตร แต่ยังคงต้องพึ่งพาทะเลในการขยายพันธุ์ปล่อยตัวอ่อน ซึ่งยังต้องผ่านการเป็นแพลงก์ตอน

 

ก่อนจะลอกคราบเปลี่ยนแปลงรูปร่างหลายครั้งจนคล้ายปูขนาดเล็ก ยกพลขึ้นฝั่งหาที่หลบซ่อนอาศัย จนโตขึ้นก็จะขุดรูเป็นบ้านของตัวเอง โดยก้นรูมักจะเป็นจุดที่มีระดับน้ำใต้ดินหล่อเลี้ยง ทำให้ปูมีแหล่งน้ำสำหรับแลกเปลี่ยนกับน้ำในเหงือก
    

นายเรืองฤทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า อีกชนิดหนึ่งที่เป็นการรายงานพบการกระจายเพิ่มเติม คือ ปูไก่ก้ามโต ที่เดิมในประเทศไทยเป็นที่รู้จักในชื่อ Discoplax hirtipes แต่ต่อมาชนิดที่พบทางชายฝั่งอันดามันของไทยตามเกาะไกลฝั่ง ได้แก่ เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ จ.พังงา และเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

 

รวมทั้งที่พบในบริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ได้ถูกแยกออกมาเป็นชนิดใหม่ และปัจจุบันได้ย้ายเข้าไปในสกุลใหม่ ในชื่อ Tuerkayana magnum 
   สภาพนิเวศชายฝั่งแบบหาดทรายทับถมด้วยซากปะการังเป็นแหล่งที่พักอาศัยของปูไก่  

ปูไก่กล้ามโตที่พบชายฝั่งอันดามันของไทย ปัจจุบันถูกย้ายเป็นชนิดและสกุลใหม่

โดยในช่วงปีเดียวกันที่พบปูไก่จิ๋ว ได้พบปูชนิดนี้หนึ่งตัว เดินอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่อาคารที่ทำงานของศูนย์วิจัยฯ ปัจจุบันตัวอย่างถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเล ภายในศูนย์วิจัยฯ (ทั้ง 2 ชนิดนี้) นับเป็นการรายงานการกระจายเพิ่มเติมในประเทศไทยของปูไก่ก้ามโต ซึ่งเข้าใจกันว่าจะมีเฉพาะบนเกาะไกลฝั่งดังที่ได้กล่าวมา

 

แต่หากได้มีการสำรวจอย่างจริงจัง ก็อาจจะสามารถพบปูไก่ชนิดนี้เพิ่มเติมได้ จากเกาะใกล้ฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ของทะเลอันดามันของไทยได้อีกในอนาคต

ตำแหน่งแหลมพันวา เกาะภูเก็ต