รื้อแผนรถไฟทางคู่สายชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองบูมแลนด์บริดจ์

04 ก.ค. 2564 | 09:50 น.

“คมนาคม” เดินหน้าศึกษารถไฟทางคู่สายชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนก.ค.นี้ เชื่อมแลนด์บริดจ์ หวังสนับสนุนเศรษฐกิจแดนใต้ ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 67

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง  งบลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 91 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้ รฟท.เตรียมเสนอให้บอร์ดอนุมัติให้ว่าจ้าง กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MAA Consortium ทำการศึกษาทบทวนงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะมีการนำผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม

 


ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยศึกษาไว้เมื่อปี 2561 มาทบทวนใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge)ที่ต้องการให้มีการเชื่อมต่อการเดินทางกับท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน อย่างบูรณาการ และให้สอดคล้องแผนแม่บทการบูรณาการงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟให้สอดคล้องกัน (MR-MAP ) ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
 

 ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาในการศึกษาทบทวนราว 1 ปี คาดว่าจะนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ในช่วงปลายปี 2565 จากนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการในปี 2566 และตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการในปี 2573

รื้อแผนรถไฟทางคู่สายชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองบูมแลนด์บริดจ์


 รายงานข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า ส่วนการปรับแก้ไขแนวเส้นทางบางส่วน เนื่องจากแนวเส้นทางเดิมตามผลการศึกษาของ สนข.ไม่เหมาะสมกับการใช้เป็นแนวเส้นทางที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตามนโยบายและผลการพัฒนา MR-MAP เนื่องจากแนวเส้นทางอยู่ใกล้และเกือบขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 ที่เป็นทางหลวงสายหลัก และยังไม่ตอบสนองการเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกตามการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ที่ต้องการสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางของคน และสินค้าเข้าสู่สถานีรถไฟระนอง ต่อไปยังถนนเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกชุมพร ด่านศุลกากร โครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายชุมพร-ระนอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงท่าอากาศยานระนอง และชุมพร 
 

สำหรับแนวเส้นทางใหม่ของโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นโครงการตามแนวเส้นทางใหม่จะเริ่มที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ตัดผ่านไปทางตะวันตก ผ่านทางรถไฟสายใต้บริเวณทิศเหนือของสถานีควนหินมุ้ย จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทล. 4097 และตัดผ่านทล. 41 (สายแยกปฐมพร-พัทลุง) และขนานไปกับแนวทล. 4006 (สายราชกรูด-หลังสวน) ผ่านพื้นที่ภูเขา แล้วตัดกับทล. 4006 จากนั้นมุ่งลงไปทางทิศใต้ ขนานกับทล. 4 (ถนนเพชรเกษม) โดยอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทล.4 ผ่านด้านหลังของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนองจากนั้นแนวเส้นทางโค้งขวามุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ป่าชายเลนไปสิ้นสุดที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง โดยแนวเส้นทางโครงการฯ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 9 ตำบล 3อำเภอ ของ 2 จังหวัด ได้แก่ ต.บางน้ำจืด ต.นาขา ต.วังตะกอ และ ต.หาดยาย ของ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ต.ปังหวาน ต.พระรักษ์ ต.พะโต๊ะ และ ต.ปากทรง ของ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง

 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564