ไวรัสกลายพันธุ์ "ปัจจัยเสี่ยง" ทุบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

12 ก.ค. 2564 | 01:06 น.

รมว.คลังสหรัฐห่วง “ไวรัสกลายพันธุ์” จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว แถลงการณ์รมว.คลัง G20 สะท้อนความกังวลเดียวกัน โดยระบุไวรัสกลายพันธุ์และการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม คือ "ความเสี่ยงช่วงขาลง"

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา เปิดเผยภายหลัง การประชุม G20 ที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลีวานนี้ (11 ก.ค.) ว่า สิ่งที่ทำให้รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ คือ เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสดังกล่าว

นางเจเน็ต เยลเลน

 “ตอนนี้เรามีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าและไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว” นางเยลเลนกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกนั้นเชื่อมโยงกัน หากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกแล้ว ประเทศที่เหลือก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

ในวันเดียวกันนั้น แถลงการณ์ของกลุ่มประเทศ G20 ยังสะท้อนความห่วงกังวลในทิศทางเดียวกัน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกนั้นดีขึ้นในขณะที่มีการฉีดวัคซีนและมีการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เตือนด้วยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์และการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น ถือเป็นความเสี่ยงช่วงขาลง

 

“เรารับรู้ถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งกระบวนการฉีดวัคซีน และเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลกให้ได้ 70% ในปีหน้า (2565) ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก เพื่อสนับสนุนด้านการเงินในการซื้อวัคซีนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และโลกจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติมากกว่านี้ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19” รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าว

 

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ G20 ยังมีข้อตกลงสำคัญทางด้านภาษี นั่นคือมาตรการยับยั้งการเลี่ยงภาษี ด้วยการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำอัตรา 15% ทั่วโลก

 

ข้อตกลงปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลระดับโลกนี้ ถือเป็นนโยบายครั้งประวัติศาสตร์ หลังมีการถกเถียงเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีมายาวนานถึง 8 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม มติของที่ประชุมในระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 นี้ ยังต้องนำเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำเพื่อการอนุมัติอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในกรุงโรม

 

สื่อต่างประเทศระบุว่า เนื้อหาของข้อตกลง คือ การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ในประเทศที่บริษัทนั้นๆ ประกอบกิจการอยู่ ด้วยเป้าหมายยับยั้งบริษัทข้ามชาติไม่ให้เลี่ยงภาษีด้วยการโอนย้ายทรัพย์สินไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า ยกตัวอย่างบริษัท Amazon และ Google ที่มีฐานประกอบการในหลายประเทศทั่วโลก

 

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% นั้น ยังจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ เพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ด้วย

 

อย่างไรก็ดี นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐยอมรับว่า ประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กบางประเทศอาจต่อต้านข้อตกลงนี้ อาทิ ไอร์แลนด์และฮังการี ซึ่งมักถูกใช้เป็นแหล่งเลี่ยงภาษี เพราะมีอัตราการเก็บภาษีที่ต่ำ แต่ G20 จะพยายามชักจูงประเทศเหล่านี้ ให้เข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว

 

อนึ่ง ประเทศกลุ่ม G20 มีเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของ GDP โลก มีสัดส่วนการค้าโลกคิดเป็น 75% และมีประชากรราว 60% ของประชากรโลก ประเทศสมาชิก G20 ครอบคลุมประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย ตุรกี และอินโดนีเซีย  

 

เป็นที่คาดหมายว่า นอกจากประเด็นสำคัญเรื่องภาษีนี้แล้ว ในการประชุมสุดยอด(ระดับผู้นำ)ของ G20 ที่กำหนดมีขึ้นในเดือนตุลาคมที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ยังจะมีการพิจารณาเรื่องการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมสำหรับประเทศยากจนกว่าด้วย เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กำลังสร้างผลกระทบทั่งทางเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก