ตอบ 6 ข้อสงสัย ข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ไท่ซาน” ในจีนกัมมันตรังสีรั่วไหล

15 มิ.ย. 2564 | 11:52 น.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันนี้ (15 มิ.ย.) บริษัทด้านพลังงานของฝรั่งเศส EDF กำลังตรวจสอบประเด็นการรั่วไหลที่อาจทำให้เกิดการสั่งสมก๊าซ “ซีนอน” และ “คริปทอน” ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ “ไท่ซาน” (Taishan Nuclear Power Plant) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งทางภาคตะออกเฉียงใต้ของจีน และห่างจากฮ่องกงราว 200 กิโลเมตร

การตรวจสอบข่าว การรั่วไหลของก๊าซกัมมันตรังสี ดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกา กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่ามีการรั่วไหลของก๊าซกัมมันตภาพรังสีใน โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไท่ซาน  โดยรายงานชิ้นนี้จัดทำโดย บริษัท ฟรามาโทม (Framatome) ซึ่งอยู่ในเครือ EDF ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส บริษัท Framatome เป็นผู้ออกแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงแห่งนี้และยังคงมีส่วนร่วมในการดำเนินการโรงงานด้วย

ตอบ 6 ข้อสงสัย ข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ไท่ซาน” ในจีนกัมมันตรังสีรั่วไหล

เมื่อเร็ว ๆนี้ Framatome ได้แจ้งเตือนว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไชน่าเจเนอรัล นิวเคลียร์ พาวเวอร์ กรุ๊ป (China General Nuclear Power Group) หรือ ซีจีเอ็น กับ Framatome กำลังเผชิญอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีที่ใกล้จะเกิดขึ้นเต็มที

ต่อไปนี้เป็น 6 คำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทั้งรัฐบาลจีนและสำนักข่าวของทางการพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึง

1.เกิดอะไรขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไท่ซาน

 จากรายงานของซีเอ็นเอ็น เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐกำลังตรวจสอบรายงานซึ่งเป็นข้อร้องเรียนของบริษัท Framatome ผู้ลงทุนร่วมซึ่งถือหุ้นส่วนน้อยในโครงการนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าตรวจพบการสั่งสมของก๊าซคริปทอน (krypton) และซีนอน (xenon) ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อย สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการทำงานของวงจรปฐมภูมิของเตาปฏิกรณ์ไท่ซานหมายเลข1 แต่รายงานระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็น ปรากฏการณ์ที่ทางโรงงานรับรู้ มีการดูแลตรวจสอบอย่างใกล้ชิดตามกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ทางด้านซีจีเอ็นซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงงาน ออกแถลงการณ์ว่า การดำเนินงานทุกประการในโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ ข้อมูลเรียลไทม์ของสำนักงานความปลอดภัยด้านปรมาณูแห่งชาติจีน หรือ ซีเอ็นเอสเอ เมื่อวันจันทร์ (14 มิ.ย.) ยังชี้ว่า ระดับของกัมมันตภาพรังสีที่ตรวจพบในโรงงานถือว่ายังอยู่ในระดับปกติ   

รายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า รายงานที่เป็นข้อร้องเรียนของ Framatome ยังกล่าวหาว่า ซีเอ็นเอสเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีน ได้ขยับตัวเลขมาตรฐานที่ยอมรับได้ของระดับกัมมันตภาพรังสีด้านนอกโรงไฟฟ้าไท่ซาน เพื่อจะได้ไม่ต้องสั่งปิดโรงงานเนื่องจากระดับกัมมันตภาพรังสีที่ตรวจวัดได้สูงเกินมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้และรัฐบาลจีนยังสงวนท่าทีและไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นดังกล่าว

2.อันตรายหรือความเสี่ยงจากเรื่องนี้คืออะไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านปรมาณูมักจะลดทอนความเสี่ยงลงเมื่อต้องพูดถึงประเด็นแบบนี้ รายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นอ้างอิงคำพูดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐว่า ณ จุดนี้ อันตรายต่อสาธารณชนยังถือว่าน้อยมาก

นายหลี่ หนิง นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของจีนซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นกำลังทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และยังว่าการทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกอาจต้องมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง การคาดหวังว่า “ข้อผิดพลาดต้องไม่มีเลย”นั้น ถือว่าไม่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง เขายังกล่าวด้วยว่า สื่อมักไม่อยากสะท้อนภาพเกี่ยวกับอันตรายหรือความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูอย่างเหมาะสมตรงไปตรงมา ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการทำให้อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้เกิด โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก

ในทัศนะของเขาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนั้นก่อให้เกิดและปล่อยกัมมันตรังสีออกมามากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เสียอีก  

3.เพราะอะไรรัฐบาลสหรัฐถึงเข้ามาเกี่ยวข้อง

บริษัท ซีจีเอ็น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานปรมาณูรายใหญ่ที่สุดของจีน เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในบัญชีดำของสหรัฐตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยสหรัฐกล่าวหาว่า บริษัทจีนรายนี้พยายามครอบครองเทคโนโลยีชั้นสูงและวัตถุดิบของสหรัฐเพื่อนำไปดัดแปลงใช้ด้านการทหารในประเทศจีน

นั่นหมายความว่า บริษัท Framatome ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐก่อน จึงจะสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือซีจีเอ็นในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในโรงงาน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศของจีนเคยกล่าวว่า บัญชีดำของสหรัฐเป็นมาตรการควบคุมการส่งออกที่ถูกนำมาใช้ในทางผิด ๆ    

โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไท่ซาน          

4.ประวัติการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าไท่ซานมีความปลอดภัยแค่ไหน

 มีความผิดพลาดด้านความปลอดภัยเพียง “เล็ก ๆ น้อย ๆ” มาเป็นระยะ ๆที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งนี้ ล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า โวลต์มิเตอร์ (เครื่องวัดแรงดันไฟฟ้า) ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 ทำงานผิดปกติ และทำให้วงจรไฟฟ้าตัดไฟโดยอัตโนมัติ

ต่อมาในเดือนเมษายน ยังเกิดอุบัติเหตุเป็นการระเบิดของก๊าซกัมมันตรังสีในท่อของระบบบำบัดก๊าซที่ต้องระบายทิ้งของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ขณะที่คนงานกำลังทำงาน ทำให้กริ่งสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น

5. “EPR” คืออะไร

เดิมเรียกว่า European Pressurised Reactor เป็นเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ชนิดอัดความดัน ถือเป็นเทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่นที่ 3 ซึ่งมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม และมีศักยภาพในการก่อกำเนิดพลังงานมากขึ้นด้วย ผู้ที่ออกแบบเตาปฏิกรณ์เทคโนโลยีดังกล่าวคือบริษัท ฟรามาโทม (Framatome) ร่วมกับบริษัทซีเมนส์จากเยอรมนี

ทั้งนี้ คู่แข่งที่มีเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์รุ่นที่3 เช่นกัน ได้แก่ เตาปฏิกรณ์รุ่น AP1000 ของบริษัทเวสติงเฮาส์ , เตาปฏิกรณ์ VVER-1200 ของรัสเซีย และเตาฮัวหลง วัน (Hualong One) ของจีน

ในปี 2549 บริษัทด้านพลังงาน EDF ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นบริษัทแม่ของฟรามาโทม (Framatome) และบริษัท อารีวา (Areva) ผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสเช่นกัน แพ้การประมูลติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเมืองชายฝั่งด้านตะวันออกของจีน โดยผู้ชนะประมูลในครั้งนั้นเป็นบริษัทเวสติงเฮาส์ซึ่งทำข้อตกลงจะถ่ายโอนเทคโนโลยีสำคัญให้จีนด้วย

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2560 EDF ชนะประมูลติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับโรงไฟฟ้า 2 แห่งในเมืองไท่ซาน ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 70% โดยซีจีเอ็น และฟรามาโทม บริษัทในเครือ EDF ถือหุ้นส่วนน้อย การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 2553 และเตาปฏิกรณ์หมายเลข1 ก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิม 4 ปี

ตอบ 6 ข้อสงสัย ข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ไท่ซาน” ในจีนกัมมันตรังสีรั่วไหล

6. หลังการตรวจสอบแล้วจะอย่างไรต่อ

EDF ไม่ได้ระบุกรอบเวลาว่าจะตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าไท่ซานให้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ในส่วนของเจ้าหน้าที่สหรัฐก็ไม่ได้ระบุเช่นกัน

เห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไท่ซานไม่มีผลสั่นคลอนความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่จะเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศ แต่อาจจะมีผลเพิ่มความท้าทายให้กับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่ต้องการบุกเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนที่มีบริษัทเจ้าถิ่นครอบงำอยู่

ในปีที่ผ่านมา (2563) อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในจีนยังไม่สามารถทำกำลังการผลิตได้ตามเป้า การขยายการลงทุนได้รับผลกระทบหรือถูกพับโครงการไปหลังจากเกิดภัยพิบัติขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นในปี 2553 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการทบทวนเรื่องโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปทั่วโลก แต่ปัญหาในประเทศจีนยังเกิดจากความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาโครงการที่ออกแบบโดยบริษัทต่างชาติ และต้นทุนก็มักจะสูงมาก

กล่าวกันว่ารัฐบาลจีนพยายามผลักดันเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ที่พัฒนาโดยบริษัทจีนเองมากขึ้น เช่นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ “ฮัวหลง วัน” ขณะเดียวกันก็พยายามนำเทคโนโลยีของจีนไปนำเสนอในตลาดต่างประเทศด้วย เช่นการเข้าไปมีบทบาทให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ใช้เตาปฏิกรณ์แบบ EPR ในเมืองฮิงค์ลีย์ พอยน์ ประเทศอังกฤษ

ในส่วนของสหรัฐนั้น ความวิตกเกี่ยวกับโรงงานไท่ซานส่งผลให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเรียกประชุมหลายครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเฝ้าจับตาสถานการณ์ โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐได้หารือร่วมกับบริษัทฝรั่งเศสและผู้เชี่ยวชาญประจำกระทรวงพลังงานสหรัฐอย่างใกล้ชิด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐยืนยันว่า ได้มีการติดต่อกับรัฐบาลปักกิ่งแล้ว ทว่าขอบเขตการติดต่อยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่แหล่งข่าวก็เชื่อว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไท่ซานยังไม่เข้าใกล้ขั้นวิกฤต และยังไม่ถือเป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงงานและประชาชนจีนทั่วไป

อย่างไรก็ตามสหรัฐถือว่าเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ" ที่บริษัทต่างชาติ(อย่างฟรามาโทม) จะร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐและคู่ค้าร่วมที่มีรัฐบาลปักกิ่งเป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ สื่อสหรัฐรายงานว่า ฟรามาโทม (Framatome) ติดต่อกับสหรัฐเพื่อขอการยกเว้น(จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่อบริษัท ซีจีเอ็น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงงาน) ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากสหรัฐในการเข้าไปแก้ไขปัญหาก๊าซรั่วไหลที่เกิดขึ้น แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐจะพร้อมให้ความช่วยเหลือ ก็ยังขึ้นอยู่กับท่าทีของจีนด้วยว่ายอมรับถึงปัญหาและต้องการความช่วยเหลือหรือไม่

หลายฝ่ายหวังว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะถูกจัดการด้วยความโปร่งใสเพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขที่เหมาะสม เพราะโลกเคยได้รับบทเรียนแสนแพงมาแล้วในปี 2529 จากกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ที่ความสูญเสียอาจลดน้อยลงหรือป้องกันได้มากกว่านี้หากไม่มีความพยายามปกปิดและบิดเบือนปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

ข้อมูลอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง