ส่อง 3 เทรนด์ใหม่ค้าปลีก "แดนผู้ดี” ยุคโควิด

21 ก.พ. 2564 | 10:11 น.

ส่อง 3 เทรนด์ใหม่ค้าปลีกแดนผู้ดี “อังกฤษ”ยุคโควิดยังระบาด คนเรียกหาของถูก ทำอาหารทานเองที่บ้าน ซื้อผ่านออนไลน์เพิ่ม ฟันธงอีก 1 ปีตลาดฟื้น ชี้โอกาสอาหารไทยเจาะตลาด

 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร(อังกฤษ)ปี 2563 ที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกในสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 โดยในปี 2564 นี้ ห้างค้าปลีกและธุรกิจในสหราชอาณาจักรก็ยังคงประสบกับความท้าทายตั้งแต่ต้นปี สืบเนื่องจากมาตรการ Lockdown เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

จากข้อมูลของ The Centre for Retail คาดว่ายอดจำหน่ายของห้างค้าปลีกในปี 2564 นี้ จะยังคงต่ำกว่ายอดจำหน่ายในปี 2562 อย่างไรก็ดี ยังคงมีความหวังว่าภายในปี 2565 ยอดจำหน่ายของห้างค้าปลีกจะกลับฟื้นตัว โดยขณะเดียวกัน The Institute of Grocery Distribution (IGD) คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายสินค้า Grocery ในปี 2564 นี้ จะยังคงที่ ซึ่งยอดจำหน่ายสินค้าอาหารและ Grocery ในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 197 ล้านปอนด์(ประมาณ 8,274 ล้านบาท คำนวณที่ 42 บาทต่อปอนด์)

ส่อง 3 เทรนด์ใหม่ค้าปลีก \"แดนผู้ดี” ยุคโควิด

 วารสาร The Grocer และ Retail Gazette ซึ่งเป็นวารสารด้านการค้าปลีก ได้คาดการณ์เทรนด์ของห้างค้าปลีกที่สำคัญในปี 2564 ดังนี้

1.ผู้บริโภคจะมองหาสินค้าราคาถูก – โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคค้นหาคำว่า “value” และ “Offer” เพิ่มขึ้นใน search engine เช่น Google ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมองหาสินค้าราคาถูก โดยเฉพาะใน โอกาสหรือเทศกาลพิเศษ

2.ผู้บริโภคทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น – ในปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคค้นหาวิธีการปรุงอาหาร (recipe) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 68 จากปี 2562 โดยคำว่า “bread” “dinner” “cocktail recipes” และ “baking recipes” มีผู้ค้นหาจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าในปีนี้ผู้บริโภคยังคงนิยมทำอาหารรับประทานเอง ทั้งนี้ผู้บริโภคยัง มีการค้นหา คำว่า “takeout” และ “delivery services” เพิ่มขึ้นอีกด้วย

3.ผู้บริโภคจับจ่ายสินค้าช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น – จากข้อมูลของ Kantar พบว่า จากมาตรการ Lockdown ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคอายุ 45 ปีขึ้นไป มีการจับจ่ายสินค้า Grocery ช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของบริการ Click & Collect ก็ยังคงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ ในส่วนของสินค้าแฟชั่นนั้น การจำหน่ายสินค้าช่องทางออนไลน์ขยายตัวอย่างมาก โดยบริษัทที่ประสบ ความสำเร็จในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ Boohoo(จำหน่ายสินค้าแฟชั่นออนไลน์) มียอดขายเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 40 ในช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2563 ในขณะที่ร้านค้าปลีกที่มีการจำหน่ายสินค้าหลายช่องทาง (multichannel retailer) เช่น ห้างสรรพสินค้า Debenhams และ บริษัท Top Shop กลับมีผล ประกอบการลดลง โดยความสำเร็จของบริษัท Boohoo ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ด้าน digital marketing ของบริษัทที่ปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

สคต. ณ กรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตลอดจนมาตรการ Social Distancing เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส Covid-19 นั้น ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร เปลี่ยนแปลงไป มีการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 นี้ การจำหน่ายสินค้าในช่องทางออนไลน์ ยังคงจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ห้างค้าปลีกในสหราชอาณาจักร ต่างพัฒนาระบบคลังสินค้า (Fulfilment) และระบบขนส่ง เพื่อรองรับความต้องการในการใช้บริการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ห้างค้าปลีกยังคงให้ความสำคัญ กับการบริการลูกค้า (customer service) อีกด้วย เช่น บริการ Online Chat และ Virtual Meetingสำหรับลูกค้า ในการพูดคุยกับพนักงานขาย

ในส่วนของสินค้าไทยนั้น สคต. เห็นว่าเป็นโอกาสของสินค้าอาหารไทยในการขยายการส่งออกไปยังตลาดสหราชอาณาจักร เนื่องจากผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรมีการทำอาหารเองที่บ้านเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการควร ปรับกลยุทธ์ด้านการตลาด โดยเฉพาะ digital marketing ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนติดตาม สถานการณ์ตลาด เพื่อปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคจากผลการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SHR กลุ่ม 'สิงห์' ทุ่ม 560 ล. ไล่ช้อปโรงแรมในอังกฤษ 26 แห่ง

เชื่อหรือไม่? คนไทยจ่ายหนี้บัตรสูงกว่าสิงคโปร์และอังกฤษ

เตือน! โควิดพันธุ์อังกฤษ ...สายพันธุ์ หลัก ครองโลก

อังกฤษเล็งตลาดใหญ่เอเชีย-แปซิฟิก จ่อเจรจาเข้าเขตการค้าเสรี CPTPP

แนวโน้มคลี่คลาย อังกฤษจ่อปลดล็อกดาวน์ มี.ค.นี้