WHO เผยยา “เรมเดซิเวียร์” ไร้ประสิทธิภาพในการรักษาโควิด

24 เม.ย. 2563 | 00:29 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุในเว็บไซต์ว่า ผลการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir)  ซึ่งเป็นยาแอนตี้ไวรัสของบริษัท กิเลียด ไซเอินส์ (Gilead Sciences) ในการทดสอบทางคลินิกที่จีน พบว่า ยาดังกล่าวไม่สามารถเร่งอัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมทั้งไม่สามารถป้องกันผู้ป่วยจากการเสียชีวิต

 

WHO รายงานผลดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก่อนที่จะลบออกในเวลาต่อมา โดย WHO ให้เหตุผลว่า การนำรายงานผลทดสอบขึ้นโพสต์บนเว็บไซต์เป็นข้อผิดพลาด

WHO เผยยา “เรมเดซิเวียร์” ไร้ประสิทธิภาพในการรักษาโควิด
 

ทางด้านนางเอมี ฟลัด ซึ่งเป็นโฆษกของกิเลียดฯ กล่าวชี้แจงว่า โครงการทดสอบการใช้ยาดังกล่าวได้ถูกสั่งยกเลิกไม่นานหลังมีการเปิดตัว เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจำนวนน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถได้ข้อสรุปทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ดี นางฟลัดยืนยันว่า แนวโน้มที่ปรากฎในข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงประโยชน์อย่างมากในการใช้ยาเรมเดซิเวียร์โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในช่วงเริ่มติดเชื้อ

 

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศได้รายงานเนื้อหาของผลการทดสอบทางคลินิกยาเรมเดซิเวียร์ก่อนที่ WHO จะลบโพสต์ออกไปว่า การทดลองดังกล่าวมีผู้ป่วยร่วมโครงการ 237 คน มีการใช้ยาเรมเดซิเวียร์กับผู้ป่วย 158 คน ที่เหลือ 79 คนได้รับยาหลอก (ยาที่ไม่มีสารออกฤทธิ์) ปรากฏว่า หลังจากนั้น 1 เดือน อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ได้รับยาเรมเดซิเวีย์ อยู่ที่ 13.9% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอัตราการเสียชีวิต 12.8% การทดสอบถูกยกเลิกก่อนกำหนดเนื่องจากพบว่า การใช้ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียง

ข้อมูลที่หลุดออกมา ทำให้ราคาหุ้นของบริษัท กิเลียด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ปรับลดลง 4.3%

 

การทดสอบยาเรมเดซิเวียร์ ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการและยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสดังกล่าว ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน มีรายงานข่าวว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 บางรายในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์ ชิคาโก ที่ได้รับยา เรมเดซิเวียร์ หายจากอาการไข้และฟื้นตัวจากปัญหาทางเดินหายใจอย่างรวดเร็ว แต่การทดสอบในจีน ซึ่งเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหลายรายมีอาการดีขึ้น และไม่สามารถลดจำนวนไวรัสในกระแสเลือดของพวกผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการทดลองยังไม่มี และชี้ให้เห็นข้อจำกัดในการตีความข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการทบทวนอย่างสมบูรณ์