หวั่นยกระดับการแพร่ระบาดทำศก.โลกครึ่งปีแรกถดถอย

28 ก.พ. 2563 | 06:30 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

ถ้าหากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ยกระดับกลายเป็นการแพร่ระบาดขนาดใหญ่เป็นวงกว้างทั่วทั้งทวีปและทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Pandemic (แพนเดมิก) ก็มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจของโลกจะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)ในปีนี้

 

ในที่สุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ออกมาเตือนให้ทั่วโลกเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทุกประเทศเตรียมพร้อมมากกว่านี้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อนอกประเทศจีนที่เป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาด ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทั่วโลกมีจำนวนกว่า 80,000 ราย (ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563) และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,700 ราย “ทุกประเทศทั่วโลกควรจะเตรียมพร้อมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แม้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะเกิดการระบาดแผ่กว้างไปทั่วที่เรียกว่า แพนเดมิก แต่หลายประเทศก็ควรจะเตรียมตัวให้พร้อมในการรับมือ” นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าว

หวั่นยกระดับการแพร่ระบาดทำศก.โลกครึ่งปีแรกถดถอย

 

ด้าน บริษัทวิจัยมูดี้ส์ อะนาไลติกส์ เปิดเผยว่า ผลกระทบที่ไวรัสดังกล่าวมีต่อเศรษฐกิจโลกน่าเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อพุ่งสูงในอิตาลีและเกาหลีใต้ นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ตอนแรกไวรัสดังกล่าวส่งผลสะเทือนเศรษฐกิจจีน แต่ตอนนี้ภัยคุกคามได้แผ่กระจายออกไปทั่วโลกแล้ว และยกระดับเป็นการแพร่ระบาดไปทั่วโลกในวงกว้าง เศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มที่จะดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย แม้กระทั่งเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปัจจุบันยังดูแข็งแรง ก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันมากพอและอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากเรื่องนี้ไปด้วย

 

ทั้งนี้ เดิมมีการคาดหมายว่า โรคปอดอักเสบจากโควิด-19 จะแพร่กระจายอยู่ภายในประเทศจีนเป็นหลักและน่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่สมมติฐานดังกล่าวก็ดูจะเลือนลางลงไป และแนวโน้มที่ว่าการแพร่ระบาดจะขยายวงกว้างไปทั่วโลก ก็ดูจะเป็นจริงมากขึ้น ทำให้ทางสถาบันวิจัย ต้องปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่เชื่อว่าการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลก หรือ แพนเดมิก นั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเพียง 20% ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 40% และถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้  

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า ในกรณีเลวร้ายหากการแพร่ระบาดขยายลุกลามเป็นวงกว้างระดับโลก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายมิติ เพราะขณะนี้การเดินทางเพื่อธุรกิจ-การค้า ระหว่างประเทศอื่นๆ กับจีนนั้นถือได้ว่าหยุดสนิท รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับจีนด้วย สายการบินจำนวนมากพากันงดเที่ยวบินไปยังจีน ขณะที่บรรดาเรือสำราญก็พากันเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงจุดหมายปลายทางในเอเชีย-แปซิฟิก

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่ในแต่ละปี มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนราว 3 ล้านคน คนจีนเหล่านี้ใช้เงินมหาศาลเพื่อการท่องเที่ยว สถานการณ์ในยุโรปที่มีอิตาลีเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน เมืองมิลานที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในยุโรปกำลังตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องถูกกักกันและคุมเข้มพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค นอกจากนี้ ผลกระทบที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็มีความรุนแรง เนื่องจากห่วงโซ่การผลิตในจีนตกอยู่ในภาวะชะงักงันและขาดแคลนแรงงาน โรงงานของต่างชาติที่อยู่ในจีน รวมทั้งแบรนด์ใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล ไนกี้ หรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า

หวั่นยกระดับการแพร่ระบาดทำศก.โลกครึ่งปีแรกถดถอย

มูดี้ส์ อะนาไลติกส์ ประเมินสถานการณ์ว่า หากเป็นระดับเบาบางที่สุด คือหากการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ควบคุมอยู่ภายในจีนได้และคลี่คลายภายในปลายไตรมาสแรก ก็คาดว่าเศรษฐกิจของจีนไตรมาสแรกจะติดลบ และอัตราการขยายตัวของทั้งปีนี้ (2563) ก็จะปรับลดลง 1% มาอยู่ที่ 5.4% ส่วนจีดีพีโลกในช่วงไตรมาสแรกคาดว่าจะลดลงเกือบๆ 1% เช่นกัน และตลอดทั้งปีนี้คาดว่าจะมีการขยายตัวที่อัตราเพียง 2.4% เป็นการลดจากเดิมที่คาดว่าจะมีการขยายตัว (เฉลี่ยทั้งปี) ที่ 2.8% ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสแรกจะขยายตัวเพียง 1.3% หรือลดลง 0.6% จากไวรัสโคโรนา และทั้งปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเกือบๆ 2%

 

แต่สำหรับสมมติฐานในขั้นรุนแรงกว่านั้น คือหากการแพร่ระบาดลุกลามขยายวงกว้างออกไปทั่วโลก หรือเป็นแพนเดมิก ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯจะติดลบและเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจมีความเปราะบางอยู่แล้วจากปัจจัยอื่นๆ และไวรัสโควิด-19 ก็เป็นปัจจัยซ้ำเติมที่เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน “นี่มันเป็นเหตุการณ์นอกสคริปต์อย่างแท้จริง”

 

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

หวั่นยกระดับการแพร่ระบาดทำศก.โลกครึ่งปีแรกถดถอย