ปริศนาเครื่องบินยูเครน งัดหลักฐานใหม่มัดอิหร่าน

10 ม.ค. 2563 | 01:03 น.

 

เหตุการณ์เครื่องบินตกในประเทศอิหร่านเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ยังคงเป็นปริศนาและเป็นอุบัติเหตุที่มีเงื่อนงำมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดคะเนว่าเครื่องบินลำดังกล่าวซึ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์อาจจะตกลงเพราะถูกยิงด้วยขีปนาวุธ แต่หลังจากนั้นถัดมาก็ได้มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงแหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านข่าวกรองของประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นชาติที่มีผู้โดยสารเสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ออกมาระบุว่า จากการประเมินในเบื้องต้น ไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่า เครื่องบินลำนี้ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เอ็นจี อายุการใช้งานเพียง 3 ปี ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ “ไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ไปทางนั้น”  พร้อมทั้งสันนิษฐานว่า สาเหตุการตกลงของเครื่องบินยูเครนน่าจะมาจากปัญหาทางด้านเทคนิค (technical malfunction) เพราะมีการตรวจพบหลักฐานบางอย่างว่าเครื่องยนต์ตัวหนึ่งของเครื่องบินร้อนมากเกินระดับปกติ

ปริศนาเครื่องบินยูเครน งัดหลักฐานใหม่มัดอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (9 ม.ค.) เหตุการณ์กลับพลิกผันอีกครั้งเมื่อมีข้อมูลชุดใหม่ออกมาระบุว่า เครื่องบินลำนี้ “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ว่าน่าจะถูกยิงตกด้วยขีปนาวุธของอิหร่าน โดยสำนักข่าวเอพีรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งของสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ ที่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า เครื่องบินดังกล่าวน่าจะโดนลูกหลงจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านในขณะนั้น ทำให้เครื่องบินถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธตกลงและทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งลำจำนวน 176 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน แต่ก็มีผู้โดยสารต่างชาติด้วยซึ่งรวมถึงชาวแคนาดาจำนวนอย่างน้อย 63 คน 

จัสติน ทรูโด ผู้นำแคนาดาเรียกร้องให้อิหร่านเปิดเผยข้อมูลเครื่องบินตกมากกว่านี้

3 ผู้นำชาติตะวันตกยัน ‘หลักฐาน’ ชี้มาที่อิหร่าน

รายงานของเอพีอ้างอิงแหล่งข่าว 4 คนเป็นเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากเป็นข้อมูลข่าวกรองที่มีความอ่อนไหว ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าเครื่องบินของยูเครนถูกลูกหลงโดนยิงตกลงด้วยความเข้าใจผิด แต่พวกเขาก็ไม่อาจระบุเจตนาของฝ่ายอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาได้รับข้อมูลข่าวกรองจากหลายแหล่งรวมทั้งจากพันธมิตรและหน่วยข่าวกรองของแคนาดาเอง ที่ระบุว่ามีหลักฐานชี้ว่าเครื่องบินถูกยิงตกด้วยขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศของอิหร่าน สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่กล่าวว่า มีข้อมูลที่ออกมาในขณะนี้ว่า เครื่องบินของยูเครนถูกยิงด้วยขีปนาวุธของอิหร่านที่ยิงจากพื้นดินสู่อากาศ

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาให้ความเห็นว่าเขาเชื่อว่าอิหร่านต้องมีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งนี้ ทั้งยังปัดทิ้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่ว่าสาเหตุน่าจะมาจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคของเครื่องบิน เขาตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องบินลำนี้บินอยู่ในน่านฟ้าที่มีความตึงเครียดสูงมากในขณะนั้น “ใครบางคนที่ฝั่งนั้นอาจจะทำสิ่งที่ผิดพลาดขึ้นได้”

 

ทั้งนี้แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่าพวกเขาไม่อาจเปิดเผยข้อมูลข่าวกรองที่ชี้ความผิดไปยังขีปนาวุธของอิหร่าน แต่พวกเขามีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบจากระบบดาวเทียมและเครื่องตรวจจับที่มีอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งความเป็นไปได้ของข้อมูลจากการดักฟังในเครือข่ายสื่อสารและแหล่งข่าวกรองอื่นๆ

 

เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ส สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ นำคลิปวิดีโอมาเผยแพร่วานนี้ โดยระบุว่าเป็นคลิปที่มีการตรวจสอบแล้ว แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่ดูจะเป็นการพุ่งเข้าชนเครื่องบินของขีปนาวุธ โดยในภาพจะเห็นวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงพุ่งจากด้านล่างสู่เบื้องบนก่อนที่จะเกิดการระเบิดเป็นลูกไฟ จากนั้นวัตถุที่ดูเหมือนจะลุกติดไฟยังคงเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม

 

ปัดส่งกล่องดำให้ฝ่ายตรงข้ามตรวจสอบ

ทางเจ้าหน้าที่ของอิหร่านเองได้มีการให้ข้อมูลการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า นักบินของเครื่องบินลำนี้ไม่ได้ใช้สัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด และทิศทางการบินแสดงให้เห็นว่าเครื่องบินพยายามที่จะวนกลับไปยังสนามบินในกรุงเตหะรานขณะที่มีการลุกไหม้และตกลงในที่สุด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนได้ออกมาระบุว่า ถึงแม้อิหร่านจะออกมาปฏิเสธข้อสันนิษฐานที่ว่าเครื่องบินของยูเครนถูกยิงตก แต่ยูเครนยังคงเชื่อว่าการถูกขีปนาวุธโจมตี ก็เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่จะต้องนำมาพิจารณา

ปริศนาเครื่องบินยูเครน งัดหลักฐานใหม่มัดอิหร่าน

นายโอเลคซี ดานิลอฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติยูเครนให้สัมภาษณ์สื่อว่า เจ้าหน้าที่ยังคงพิจารณทุกๆความเป็นไปได้ของเหตุการณ์เครื่องบินตกในครั้งนี้ และการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธก็เป็นความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่ไม่ได้ถูกตัดทิ้งไป ทั้งนี้ ยูเครนได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและเก็บหลักฐานในพื้นที่ที่เป็นจุดเครื่องบินตกแล้ว พร้อมๆกับที่มีรายงานข่าวในอินเทอร์เน็ตว่า มีชิ้นส่วนที่อาจจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดมิสไซล์ “ทอร์” (Tor-M1) ของอิหร่านถูกตรวจพบในบริเวณดังกล่าว สื่อรายงานว่า ขีปนาวุธทอร์ของอิหร่านผลิตในรัสเซีย มีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2550

 

ทั้งนี้ ตามข้อตกลงสากลว่าด้วยการบินพลเรือนซึ่งจัดทำขึ้นที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1944 (พ.ศ. 2487) ระบุว่า ในกรณีเครื่องบินตกนั้น ให้ความรับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเป็นของประเทศที่เป็นจุดเครื่องบินตก ซึ่งกรณีนี้ อิหร่านจึงเป็นประเทศที่รับผิดชอบในการตั้งคณะตรวจสอบหาสาเหตุการที่เครื่องบินยูเครนตก และทางเตหะรานได้ออกมายืนยันแล้วว่า จะไม่ส่งกล่องดำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินและข้อมูลการสื่อสารของนักบินที่พบในจุดเกิดเหตุ ให้กับสหรัฐฯ เนื่องจากมีข้อพิพาทกันอยู่ แม้ว่าเครื่องบินลำนี้จะผลิตโดยบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน และควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วยก็ตาม

 

ยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯและพันธมิตรจะตอบโต้อย่างไรหากการใช้ขีปนาวุธยิงเครื่องบินพลเรือนตกเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯเพิ่งออกแถลงการณ์เมื่อเช้าวันพุธ ( 7 ม.ค. 11.30 เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับช่วงค่ำวันพุธ เวลาไทย) เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)  ได้แก่อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน รวมทั้งสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้ร่วมกันกดดันอิหร่าน แม้ว่าท่าทีของผู้นำสหรัฐฯดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการใช้กำลังทางทหารซึ่งจะนำไปสู่ภาวะสงคราม แต่ก็เพิ่มแรงบีบคั้นทางการเมืองระหว่างประเทศและทางเศรษฐกิจโดยประกาศจะเพิ่มมาตรการชุดใหม่คว่ำบาตรอิหร่าน