ประหยัดค่าไฟด้วยถนนเรืองแสง

10 มิ.ย. 2559 | 13:00 น.
นายโฆเซ คาร์ลอส รูบิโอ นักวิทยาศาสตร์ชาวเม็กซิกัน จากมหาวิทยาลัย ซาน นิโคลาส เดอ ฮิดาลโก เป็นผู้คิดค้นซีเมนต์เรืองแสงจนเป็นผลสำเร็จ ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วนี้ ทำให้มีความหวังว่าในอนาคตเราจะมีถนน สะพาน หรือสิ่งปลูกสร้างด้วยคอนกรีตที่จะสามารถเปล่งแสงสว่างออกมาได้อย่างยาวนาน และนั่นก็จะหมายถึงถนนหนทางที่ไม่ต้องอาศัยแสงไฟ(ฟ้า)ส่องในเวลาค่ำคืน ช่วยลดการใช้พลังงานและประหยัดค่าไฟฟ้าในที่สุด

[caption id="attachment_60979" align="aligncenter" width="500"] Glowing road Glowing road[/caption]

ผลงานของรูบิโอเกิดขึ้นจากการวิจัยและทดลองมาเป็นเวลาถึง 9 ปี ซีเมนต์ดังกล่าวเมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มืดมิด จะสามารถเปล่งแสงเรืองๆสีฟ้าและเขียวออกมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 12 ชั่วโมง และจากคำบอกเล่าของรูบิโอเอง อายุการใช้งานของซีเมนต์ก็ยาวนานนับร้อยปี แนวคิดการวิจัยซีเมนต์พิเศษนี้คือ การพัฒนาวัสดุในกระบวนการผลิตให้มันสามารถดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ แล้วก็สามารถเปล่งพลังงานนั้นกลับออกมา โดยที่สามารถควบคุมหรือปรับระดับความสว่างได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

"ผมเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีทางใหม่ในการให้แสงสว่างแก่เมืองต่างๆ ถนนหนทาง และตัวอาคาร โดยไม่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าเลย" รูบิโอกล่าว พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ในกระบวนการเปล่งแสงของซีเมนต์ จะมีเพียงไอน้ำเท่านั้นที่ระเหยออกมา

ในการวิจัยที่ใช้เวลายาวนานเกือบทศวรรษ รูบิโอพบว่าปัญหาเบื้องต้นคือ ซีเมนต์นั้นเป็นวัสดุทึบแสง ถ้าหากเขาต้องการให้คุณสมบัติของมันเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเข้าไปแก้ไขตั้งแต่กระบวนการผลิตซึ่งเป็นการเข้าไปเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ขั้นโครงสร้าง รูบิโอพบว่าเมื่อผสมฝุ่นดินกับน้ำจนซีเมนต์เริ่มจะจับตัวเป็นของเหลวเหนียว ในกระบวนการนี้จะเกิดการก่อตัวของเกล็ดผลึกใสซึ่งเป็นผลพลอยได้ในกระบวนการผลิต ซึ่งถ้าหากเขาสามารถออกแบบการผลิตให้กระบวนการเกิดเกล็ดผลึกใสหายไป เขาจะได้เนื้อซีเมนต์ที่สามารถดูดซับพลังงานจากแสงแดดและเปล่งแสงสว่างออกมาในเวลากลางคืน

ซีเมนต์เรืองแสงนี้ไม่เพียงช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า แต่ในกระบวนการผลิตยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีเพียงไอน้ำเป็นผลพลอยได้ ถามว่าจะเอาซีเมนต์มาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง? รูบิโอตอบว่า เราสามารถนำซีเมนต์เรืองแสงมาทำถนน รวมทั้งนำมาก่อสร้างอาคารเหมือนซีเมนต์ทั่วไป หรืออาจนำมาใช้เป็นวัสดุฉาบอาคาร ขณะนี้กำลังมีการนำผลงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ไปต่อยอดเพื่อผลิตเป็นสินค้าออกมาในเชิงพาณิชย์แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559