เมื่อติดโควิด “วัดออกซิเจนในเลือด”เองได้

01 พ.ค. 2564 | 21:25 น.

ช่วงโควิดระบาดรอบใหม่นี้ หรือเดือนเมษายน 2564 น่าจะมีการระบาดอย่างรุนแรงอีกระยะ และหากทุกคนไม่ร่วมมือกันให้การระบาดเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จำนวนคนเป็นโรค เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำๆ จะเกิดภาวะ “เกินกำลังการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล” ขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้วคนที่ติดเชื้อโควิด แต่อาการไม่มากจะต้องรักษาตัวเอง สังเกตอาการตัวเองที่บ้าน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางกลับกัน ได้มีคำแนะนำถึงการดูแลตัวเองที่บ้านอยู่หลายแหล่งอย่างอุปกรณ์ ที่นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคลแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ศัลยแพทย์โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก มองว่ามีประโยชน์หากติดเชื้อโควิด แต่ต้องดูแลรักษาตัวที่บ้าน ก็คืออุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือด  (Pulse oximetry)

อุปกรณ์นี้ใช้งานง่าย ราคาไม่แพง แต่คุณประโยชน์มีมาก มาดูกันว่าเจ้าอุปกรณ์นี้จะมีประโยชน์อย่างไร  เครื่องนี้จะวัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือด มีขนาดเล็ก รูปร่างเป็นคลิป สำหรับหนีบที่นิ้วตอนที่ใช้วัดระดับออกซิเจนในเลือด  ขณะวัดไม่เจ็บ ไม่มีแผลเครื่องนี้ใช้กันเป็นปกติในโรงพยาบาล สามารถซื้อมาใช้ที่บ้านได้ด้วย โดยปกติแล้วจะใช้ในคนที่มีโรคประจำตัวทางด้านปอดหรือหัวใจ เช่นคนเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจล้มเหลว เป็นต้นเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดสามารถซื้อได้ตามร้านขายยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ทั่วไปได้โดย ไม่ต้องมีคำสั่งของแพทย์เพื่อซื้อแม้แต่ช่องทาง online สามารถซื้อได้ ราคาไม่แพงหลัก พันกว่าบาทเท่านั้น

เมื่อติดโควิด “วัดออกซิเจนในเลือด”เองได้

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจสงสัยว่าเครื่อง วัดออกซิเจนในเลือดช่วยบอกว่าเราติดโควิดได้หรือไม่คำตอบคือไม่ได้ เพราะการวัดค่าออกซิเจนในเลือดไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าติดโควิดหรือไม่ ถ้ามีอาการ หรือมีประวัติเสี่ยง ต้องไปตรวจที่สถานพยาบาลเท่านั้น แต่ช่วยเราได้หากติดเชื้อโควิดโดยปกติแล้ว ภาวะที่ทำให้ค่าออกซิเจนในเลือดลดตํ่าลงเป็นได้ตั้งแต่ โรคทางปอด โรคหัวใจ ภาวะอ้วน หรือคนที่สูบบุหรี่จัดๆ ก็ทำให้ค่านี้ลดตํ่าลงได้ สำหรับผู้ที่ติดโควิดแล้ว แต่ไม่มีอาการมากนัก ปกติสุขภาพแข็งแรงดี (ไม่มีโรคประจำตัว และอายุไม่มาก) และจำเป็นต้องรักษาตัวที่บ้านหรือที่พัก เช่นโรงพยาบาลเตียงเต็ม หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ 

เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจะเป็นอุปกรณ์ตัวแรกๆที่ช่วยบอกว่าค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดตํ่าลงหรือยัง ซึ่งเป็นค่าที่บอกว่าอาการหนักขึ้น ควรที่จะต้องแจ้งทางโรงพยาบาลให้มาดูแลหรือให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้แล้ว สำหรับโควิด ภาวะหนึ่งที่น่าสนใจคือ Happy hypoxia หรือว่าภาวะที่อาการค่อนข้างจะปกติ แต่ค่าออกซิเจนในเลือดตํ่ากว่าปกติมาก ซึ่งปกติแล้วถ้าค่าออกซิเจนในเลือดตํ่าจากภาวะต่างๆ ร่างกายจะมีอาการตอบสนองที่สังเกตุได้ เช่น หอบ เหนื่อย หายใจเร็วแต่สำหรับโควิดบางครั้งก็ไม่มีอาการดังกล่าว การใช้เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด จะช่วยตรวจค่าความเข้มข้นของออกซิเจนได้ตลอดแม้ว่าจะไม่มีอาการเตือนก็ตาม ทำให้ทราบล่วงหน้าว่าอาการเริ่มแย่ลงแล้วหรือไม่

ขณะเดียวกันยังมีคำถามว่า ค่าออกซิเจนในเลือดเท่าไหร่ ถึงจะต้องกังวล นายแพทย์ศุภโชค ยอมรับว่าไม่มีค่าตายตัว ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวและสุขภาพของบุคคลแต่ละคน โดยแนะนำว่า เราควรทราบค่าออกซิเจนในเลือดของเราเองในภาวะปกติก่อน ซึ่งในคนที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคถึงลมโป่งพอง โรคหัวใจ หรือภาวะอ้วน ค่าออกซิเจนพื้นฐานอาจจะตํ่ากว่าคนที่มีสุขภาพปกติดีได้

เมื่อติดโควิด “วัดออกซิเจนในเลือด”เองได้

หากติดเชื้อโควิดให้วัดค่าออกซิเจนในเลือดเป็นประจำ ถ้าค่านี้ตํ่าลง “เป็นอย่างมาก” ให้แจ้งบุคคลากรทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลทันทีโดยค่าออกซิเจนในเลือดควรจะสูงกว่า 90% 

โดยสรุปในสถานการณ์โควิดระบาดหากวิกฤติขนาดที่ไม่มีสถานพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และไม่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก จำเป็นจะต้องรักษาตัวที่บ้านหรือที่พักของตัวเอง อุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนในเลือดจะเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มาก 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564