เอ็นไอเอ เดินหน้า สานฝันกรุงเทพสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”

01 เม.ย. 2564 | 11:20 น.

 เอ็นไอเอ เดินหน้าส่งเสริมดีพเทคด้านอาหาร สานฝันกรุงเทพสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” พร้อมเดินเกมปั้น “สตาร์ทอัพฟู้ดเทค รุ่น 2” ผ่านสเปซเอฟ ติดแบรนด์นวัตกรรมอาหารไทยรับ 9 เทรนด์อาหารโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จํากัด จัดงาน SPACE-F batch 2 Accelerator Demo Day เพื่อนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการเร่งการเติบโตในรุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F

โดยมีสตาร์ทอัพที่ร่วมโชว์ผลงานทั้งสิ้น 9 ทีม ได้แก่ Advanced GreenFarm เทคโนโลยีการเลี้ยง ‘ไข่ผำ’ ซูเปอร์ฟู้ดแหล่งรวมโปรตีนชั้นยอด, Avant Meats เนื้อปลาเพาะเลี้ยงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง DEZPAX แพคเกจจิ้งสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ออกแบบได้เอง ราคาย่อมเยา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม IXON Food Technology เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อด้วยวิธีซูวี ยืดอายุเนื้อสัตว์ได้นานถึง 2 ปีที่อุณหภูมิห้อง Karana แพลนต์เบสจากขนุน รสสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อหมูจริง Nitro Labs เครื่องชงกาแฟ cold brew และเครื่องดื่มอื่นโดยใช้ไนโตรเจน ProfilePrint เครื่องมือวิเคราะห์รสชาติ และคุณภาพอาหารด้วย AI Sophie’s Bionutrients แพลนต์เบสคุณภาพสูงจากสาหร่ายขนาดเล็กที่ปลูกในเมืองและเลี้ยงด้วยเศษอาหารจากท้องถิ่น Spira เทคโนโลยีสกัดเม็ดสีฟ้าจากสาหร่ายขนาดเล็ก เพื่อใช้แต่งเติมสีอาหารอย่างปลอดภัย และได้ผลพลอยได้เป็นผงโปรตีนจากสาหร่ายใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์

เอ็นไอเอ เดินหน้า สานฝันกรุงเทพสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”

เอ็นไอเอ เดินหน้า สานฝันกรุงเทพสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในโลกอนาคตจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเชิงลึกหรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า “Deep-tech” มากขึ้น โดยอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ NIA มุ่งขับเคลื่อน นอกเหนือจาก เกษตร การแพทย์ เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และไอโอที (ARI) ซึ่ง NIA ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเชิงลึก 100 รายในภูมิภาค ทั้งนี้ “SPACE-F” เป็นหนึ่งในโครงการที่ NIA ริเริ่มขึ้นโดยทำงานร่วมกับพันธมิตรจาก 3 ภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยและผลักดันให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” โดยจะเน้นการพัฒนานวัตกรรมอาหารโลกใน 9 เทรนด์หลัก ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่ การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร  และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร  2 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการจำนวน 34 ราย สามารถต่อยอดขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก NIA จำนวน 4 ราย ได้แก่ MoreMeat Sesamilk Artificial Anything และ Trash Lucky นอกจากเครื่องมือด้านเงินทุนแล้ว NIA ยังมีเครื่องมือสนับสนุนและสร้างโอกาสการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการในอีกหลากหลายรูปแบบทั้งองค์ความรู้ เครือข่าย การขยายช่องทางการตลาดทั้งกับคู่ค้าทางธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง และการประชาสัมพันธ์”

เอ็นไอเอ เดินหน้า สานฝันกรุงเทพสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์”

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "งานวันเดโมเป็นอีกหนึ่งงานที่น่าตื่นเต้นเพราะเป็นวันที่เราจะได้เห็นนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไปพร้อมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่ความต้องการของผู้คนในเรื่องของอาหารได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งภาคธุรกิจและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก โควิด-19 ยังนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการรับประทานอาหารทั้งวิธีการและสถานที่  แน่นอนที่สุดในวิกฤตนั้นมีโอกาส และสตาร์ทอัพในโครงการสเปซ-เอฟก็ได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถใช้นวัตกรรมมาผนวกกับมุมมองทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์โอกาสที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ โภชนาการที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น  ความยั่งยืน และภาคการผลิตที่มีการปรับตัวตลอดเวลา  ไทยยูเนี่ยนรู้สึกยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จก้าวแรกของสตาร์ทอัพในโครงการวันนี้”

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน  ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า “อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการดำรงชีวิต  แต่พวกเราทุกคนมีความแตกต่างกัน  จึงมีคำถามว่าเราควรได้รับอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคนหรือไม่  ในทางการแพทย์ แนวคิดเดียวกันได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว  เนื่องด้วยวิธีการรักษาหรือยาแบบเดียวกันอาจจะไม่สามารถใช้สำหรับผู้ป่วยทุกคนได้  เราจึงต้องมีแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับอาหารที่จะตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ รวมถึงอาหารและอาหารเสริมทางการแพทย์ด้วย และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือรสชาดอาหาร  คงไม่มีใครแม้กระทั่งผู้ป่วย อยากกินอาหารที่มีประโยชน์แต่ขาดรสชาด  นวัตกรรมด้านอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งอาหารหรือส่วนประกอบที่เป็นทางเลือกก็กำลังได้รับความสนใจมาก เช่น โปรตีนจากพืช  ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องมีรากฐานจากงานวิจัยและการทดสอบอย่างละเอียดรอบคอบ  มหาวิทยาลัยมหิดลมีนักวิจัยด้านอาหารจำนวนมากที่เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ทั้งด้านสารอาหาร เนื้อสัมผัส และรสชาดของอาหาร  รวมไปถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย  เรามีความภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสเปซ-เอฟ ในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และผลักดันสตาร์ทอัพเพื่อเป็นอนาคตของเทคโนโลยีอาหาร  วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นของสตาร์ทอัพเหล่านี้ เราเริ่มจะเห็นความหวังในอนาคตข้างหน้าแล้ว”

นางสาวต้องใจ ธนะชานันท์  ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามีความยินดีกับสตาร์ทอัพทุกท่านที่ได้ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการ SPACE-F Batch2 ที่ได้รับประสบการณ์จากผู้มีความรู้ด้านต่าง ๆ และกำลังจะเติบโตไปอีกขั้นในการนำศักยภาพมาใช้ในการดำเนินธุรกิจทางด้านนวัตกรรมอาหารและเทคโนโลยี ไทยเบฟมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทุกท่านในครั้งนี้ เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก เพื่อเป้าหมายของการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เราเชื่อมั่นว่าทุกท่านที่ได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F Batch 2 จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มของไทยให้เติบโตสู่ระดับสากล”

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า “SPACE-F Batch 2  ถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร  ด้วยการสร้างนวัตกรรมอาหารที่ผสานเทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน  และจากงาน Accelerators Demo Day ทางเบทาโกรได้เห็นความสำเร็จของนวัตกรรมด้านอาหารที่น่าสนใจ และเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่ภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเครือเบทาโกรเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความสำเร็จจากการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีด้านอาหารให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ผ่าน SPACE-F Batch 2 นี้ จะเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด กล่าวว่า “วันนี้เราได้เห็นการนำเสนอและบูธแสดงผลงานที่น่าสนใจและสร้างสรรค์จาก Startup สาขานวัตกรรมอาหารมากมาย ดีลอยท์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในปีนี้ เนื่องจากเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมอันมีความหมาย ด้วยวัตถุประสงค์ของ SPACE-F มีความสอดคล้องกับโปรแกรม WorldClass ของดีลอยท์ ในการช่วยเหลือผู้ที่อาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลังและเตรียมความพร้อมให้กับรุ่นต่อไปสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต ผ่านความรู้เชิงปฏิบัติที่เรารวบรวมผ่านประสบการณ์การให้คำปรึกษามาเป็นระยะเวลานาน และผ่านนวัตกรรม ที่ดีลอยท์ เราให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมาก เนื่องจาก เราเชื่อว่านวัตกรรมสามารถนำการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมาสู่ทั้งธุรกิจและสังคมได้ เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอนวัตกรรมที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเราและชุมชนนวัตกรรมในวงกว้าง ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับ FoodTech Startups ดาวรุ่งมากมายในวันนี้และขอให้ทุกรายเติบโตและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในกิจการใหม่นี้”