อิสแวร์เร่งเครื่อง‘ดิจิทัล เทมเปิ้ล’ ปลุกกระแส‘ทำบุญออนไลน์’

30 มี.ค. 2564 | 04:00 น.

     IsWhere เร่งเครื่อง “ดิจิทัล เทมเปิ้ล” ดันวัดไทยสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ปลุกกระแส “ทำบุญ-สวดมนต์ออนไลน์” ตั้งเป้าขยายการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ

      นายเทอเรนซ์ มัค ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อิสแวร์ สิงค์โปร์ กล่าวว่า สถานการณ์ของโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบครั้งใหญ่ หลายอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ ในทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ต้องมีการปรับตัวหันมาใช้ดิจิทัลเพื่อให้สามารถอยู่รอด

     สำหรับโครงการดิจิทัล เทมเปิ้ล ไทยแลนด์ (Digital Temple Thailand) เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาโดยอิสแวร์ได้มีการร่วมลงนาม MOU กับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม ซึ่งหลังจากที่ได้ MOU ไป ก็มีการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้โครงการดิจิทัล เทมเปิ้ล ต้องชะลอไปประมาณ 2 ไตรมาส

 

อิสแวร์เร่งเครื่อง‘ดิจิทัล เทมเปิ้ล’ ปลุกกระแส‘ทำบุญออนไลน์’

 

       โครงการ “ดิจิทัล เทมเปิ้ล ไทยแลนด์” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานพระพุทธ-ศาสนาแห่งชาติและบริษัท อิสแวร์จากสิงคโปร์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดในประเทศไทยสามารถใช้ดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเข้าถึงกลุ่มชาวพุทธในประเทศไทยที่มีถึง 90% หรือกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งให้บริการกับวัดทั่วประเทศโดยแพลตฟอร์มอิสแวร์นั้นจะนำข้อมูลจากวัดทั่วประเทศเปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัล

      ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้าถึงวัดได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ ประวัติและข้อมูลวัด กิจกรรมทางพุทธศาสนา การฟังเทศน์ และสวดมนต์ หรือมาตราการป้องกันโควิด-19 ก่อนเดินทางไปที่วัด เพื่อทำบุญไหว้พระ อิสแวร์ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์บนคลาวด์เทคโนโลยี พร้อมบริการด้านดิจิทัลใหม่ๆ ให้แก่วัดไทย ใช้งานฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

“วันนี้ประชาชนสามารถทำบุญออนไลน์ได้ ทั้งการบริจาคออนไลน์ (e-Donation) และการสวดมนต์ออนไลน์ (e-Prayer) ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายให้ทุกคน ทำบุญได้อย่างปลอดภัย บนวิถีใหม่ของวัดไทยในอนาคตยุคดิจิทัล ซึ่งอิสแวร์ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งพุทธศาสนิกชน ภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุดอิสแวร์ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และหัวเว่ยที่เข้ามาช่วยเรื่องคลาวด์เทคโนโลยีและเอไอเพื่อให้บริการและรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น”

 

      ขณะที่ในส่วนค่าใช้จ่ายนั้นจะมีต้นทุนในการให้บริการอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อวัดต่อปี ซึ่งไม่ได้มีการเรียกเก็บกับทางวัดแต่จะขอรับการสนับสนุนจากสาธารณชน นอกจากนี้อิสแวร์ได้มีการพูดคุยกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะนำแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม เบื้องต้นเริ่มที่ในหมวดหมู่ของวัดไทยทั่วประเทศ และหลังจากนั้นจะเพิ่มหมวดหมู่ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว หรือโรงแรมที่พักเข้ามา ทั้งนี้อิสแวร์ได้ประเมินสถานการณ์ของโควิด-19 ไว้ว่าในเรื่องของวัคซีนน่าจะเข้ามาไม่เกินกลางปีนี้ แต่ก็ยังต้องช่วยกันผลักดันภายในประเทศ

      อย่างไรก็ตามการให้บริการของ อิสแวร์นั้นเริ่มที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐมเป็นแห่งแรก ซึ่งปัจจุบันมีวัดเข้าร่วมอยู่ใน 10-20 จังหวัด เช่น สุพรรณบุรี 597 แห่ง, นครปฐม 300 แห่ง หรือ ชลบุรี 400 แห่ง โดยทั่วประเทศมีวัดรวมอยู่ที่ราวประมาณ 41,600 แห่ง ซึ่งอิสแวร์มีเป้าหมายการขยายพื้นที่การบริการไปในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และจะเปิดตัวบริการ e-Donation และ e-Prayer เร็วๆ นี้ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,666 หน้า 16 วันที่ 1 - 3 เมษายน 2564