‘ดีอีเอส’ โชว์ผลงาน ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ 1 ปี จับแล้ว 104 ราย

02 ธ.ค. 2563 | 11:59 น.

ดีอีเอส โชว์ผลงาน ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ ร่วมกับ ศปอส.ตร. ปีแรก ดำเนินคดีแล้ว 61 ราย เผย 11 เดือนแรกปี 63 จับกุมผู้โพสต์ข่าวปลอมบนโซเชียลแล้ว 104 ราย

    ‘ดีอีเอส’ โชว์ผลงาน  ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’  1  ปี จับแล้ว 104 ราย       นายภุชพงค์  โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับ ศปอส.ตร. ตลอดระยะเวลาราว 1 ปีนับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ (1 พ.ย.62-30 พ.ย.63) มีการส่งเคสเกี่ยวกับข่าวปลอมและบิดเบือน เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ ศปอส.ตร. ทั้งสิ้น 660 เรื่อง และมีการดำเนินคดี 26 เรื่อง รวมผู้กระทำความผิด 61 ราย แบ่งเป็น การดําเนินคดีตาม พ.ร.บ.ัว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 14 เรื่อง จำนวน 21 ราย และการดําเนินคดีตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 12 เรื่อง จำนวน 40 ราย และมีจำนวนเคสที่ทำการประชาสัมพันธ์ 96 ราย รวมเคสที่ดำเนินการแล้ว 157 ราย โดยมีจำนวนเป้าหมายที่เข้าทำการตรวจค้นตามหมายศาล 53 หมาย ด้านผลการดำเนินงานช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค.-30 พ.ย. 63) มีการจับกุมผู้โพสต์ข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ไปแล้ว 20 ครั้ง จำนวน 104 ราย รวมทั้งเห็นแนวโน้มการกระทำผิดในคดีประเภทนี้เริ่มลดลง ซึ่งเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง 

“ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีบทบาทต่อผู้บริโภคข่าวสารอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้จากหลายช่องทาง โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจที่ใช้สำหรับเผยแพร่ข่าวสาร อย่างไรก็ตามเราควรให้ความสำคัญและระมัดระวังอย่างมากในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งด้านของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการแชร์ข้อมูล” นายภุชพงค์กล่าว

 

      ดังนั้นเพื่อให้มีการใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และสร้างสรรค์ สามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องผู้บริโภคควรเลือกเสพข่าวจากหลายช่องทาง และอยากรณรงค์ให้ประชาชนใช้วิธีการ 12 ข้อดังต่อไปนี้ ในการตรวจสอบข่าวปลอม ได้แก่  1.อ่านข่าวทั้งหมดโดยไม่เชื่อพาดหัวข่าวเพียงอย่างเดียว 2. ตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่ 3. ตรวจสอบแหล่งที่มาตัวตนของผู้เขียน 4. ดูความผิดปกติของตัวสะกดภาษาที่ใช้หรือการเรียบเรียง 5. พิจารณาภาพประกอบข่าว 6. ตรวจสอบวันที่ของการเผยแพร่ข่าว 7. ตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาใช้ 8. หาข้อมูลเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่น 9. ตรวจสอบว่าข่าวสารที่ส่งต่อกันมามีวัตถุประสงค์ใด 10. พิจารณาความสมเหตุสมผลของข่าว 11. ตรวจสอบอคติของตนเอง และ 12. หากมีคำถามหรือข้อสงสัยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ  

       ทั้งนี้ในปี 2564 กระทรวงดิจิทัลฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตรียมแผนการดำเนินการสร้างการรับรู้เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเติมความรู้โดยจะผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เช่น วิดีโอต่างๆ ที่สอดคล้องกับ 4 กลุ่มข่าว, สื่อไวรัลที่อยู่ในกระแสของสังคม ,พัฒนาระบบในการใช้ตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามยุคสมัย และขอความร่วมมือกับสำนักข่าว เป็นต้น