เปิด 5 ความเชื่อแบบผิดๆเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์

15 พ.ย. 2563 | 12:38 น.

รู้ไว้ใช่ว่า .. กสท. รวบ 5 ความเชื่อแบบผิดๆเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกไอที

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ได้รวบรวมความเชื่อแบบผิดๆเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกไอทีมานำเสนอ งานนี้ใครที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนเองรับรู้ ถูกต้องมาโดยตลอด อาจจะต้องรีบเปลี่ยนความคิดกันแล้ว โดยความเชื่อที่ผิดๆจะมีอะไรบ้างนั้น วันนี้ทาง กสท.ได้รวบรวมมานำเสนอ 5 หัวข้อหลักๆได้แก่

 

1. ใช้เครื่อง MAC ยังไงก็ไม่ติดไวรัส


-ถ้าคุณเป็นอีกคนที่เคยได้ยินโฆษณาว่าคอมพิวเตอร์จาก Apple ไม่ติดไวรัส นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเพราะจากข่าว  พบ EvilQuest ransomware มุ่งโจมตีเฉพาะ macOS ดังนั้นทางที่ดีควรติดตั้งโปรแกรมสแกนไวรัส เพื่อกำจัดไวรัสไม่พึงประสงค์ในทุก ๆ อุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งได้ และควรให้ความสำคัญด้าน Cyber security ในทุกอุปกรณ์เช่นเดียวกัน

 

2. เข้าเว็บไซต์ด้วยโหมดไม่ระบุตัวตนแล้วไม่มีใครรู้ว่าเราเข้าเว็บอะไร


Incognito Mode หรือการใช้เบราว์เซอร์แบบไม่ระบุตัวตน คือการไม่มีเก็บประวัติการใช้งาน ไม่มีแคช แต่ก็เฉพาะคนที่ใช้งานร่วมกับเราเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าตัวเบราว์เซอร์ไม่เก็บ แต่ผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ISP เองหรือ Web ผู้ให้บริการต่าง ๆ เช่น facebook , google ก็ล้วนแล้วแต่เก็บประวัติการ Login ทั้งสิ้น เมื่อนำมาใช้ร่วมกับชุด IP ที่เราใช้อยู่ ก็สามารถระบุตัวเราได้อยู่ดี ซึ่งถ้าต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวในการใช้งานควรเลือกเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน TOR Network จะรักษาความส่วนตัวได้ดีกว่า
 

3. ใช้แม่เหล็กทำลายข้อมูลใน Harddisk ได้


ในทางเทคนิคแม่เหล็กที่มีขนาดใหญ่และมีพลังแม่เหล็กสูง สามารถลบข้อมูลในฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ได้จริง ซึ่งฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์สมัยใหม่จะมีความอ่อนไหวต่อแม่เหล็กที่แรงมากและมีสนามแม่เหล็กเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องแม่เหล็กขนาดเล็กหรือแม่เหล็กติดตู้เย็นทั่วไป แต่ควรมาให้ความสำคัญเรื่องระบบความปลอดภัยอื่น ๆ แทน

 

4. เราไม่มีข้อมูลสำคัญอะไร ไม่ใช่เป้าหมายของแฮกเกอร์หรอก


ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์หลายคนอาจคิดว่าคอมพิวเตอร์ของเรา ไม่มีข้อมูลน่าสนใจ ไม่ใช่เป้าหมายของแฮกเกอร์ ไม่น่าจะตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ แต่ในความจริงแล้ว ก่อนที่แฮกเกอร์จะไปจู่โจมองค์กรใหญ่ ย่อมมีการซ้อมมือ สุ่มหาเหยื่อด้วยการปล่อยไวรัส แอบฝังมัลแวร์ ในคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีระบบป้องกัน ไม่มีความปลอดภัยที่ดี ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อแฮกเกอร์ทั้งหลายได้ หรือในบางครั้งแฮกเกอร์แค่ปล่อยให้มัลแวร์ ทำงานไปโดยไม่สนใจว่าเป้าหมายเป็นใคร ขอให้มีช่องโหว่ก็พอเป็นต้น
.


5. ซ่อน SSID ไว้ไม่ให้ใครเห็น แค่นี้ WiFi Network ก็ปลอดภัยแล้ว


ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ต้องการซ่อนชื่อ Wifi เพื่อกันเพื่อนบ้านมาแอบใช้งาน ด้วยการใช้ ปิด SSID Broadcast นั้น ก็เป็นเพียงซ่อนได้แค่เพียงแค่ชื่อเท่านั้น เพราะมีซอร์ฟแวร์ มากมายในการเรียกดู WiFi ที่ถูกซ่อนอยู่ ตราบใดที่ยังใช้งาน Wifi ก็ยังกระจายสัญญาณออกไป ก็เห็นอยู่ดี จึงซ่อนได้เพียงชื่อ ไม่ใช่การปิดประตูเพื่อป้องกันภัยแต่อย่างใด