‘SABUY’ รุก 4 บริการอีเพย์เมนต์ รับวิถีสังคมไร้เงินสด

22 ต.ค. 2563 | 04:05 น.

สบาย เทคโนโลยี สยายปีกบริการ “อีเพย์เมนต์” รับสังคมไร้เงินสด เร่งชิงแชร์เจ้าตลาด หวังยึดหัวหาดหลังพ้นวิกฤติโควิด-19

  นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)     นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ “SABUY” ผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการชำระเงิน หรือ อี-เพย์เมนต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน SABUY มีแผนในการขับเคลื่อน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) ซึ่งได้เปิดตัวระบบ Payment Eco System ภายใต้แบรนด์ “สบาย มันนี่” โดยล่าสุดได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งสิ้น 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจการให้บริการ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money License) ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Agent License: PA) ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร (Payment Facilitator License: PF) และ ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ (Fund Transfer License) ที่สามารถให้บริการด้านการชำระเงิน และโอนเงินอัตโนมัติ พร้อมกับผนึกพันธมิตรชั้นนำ อาทิ ทรู มันนี่ แอร์เพย์ ซาบีน่า ฯลฯ

‘SABUY’ รุก 4 บริการอีเพย์เมนต์ รับวิถีสังคมไร้เงินสด 2. ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ “เติมสบายพลัส” ที่ปัจจุบันเป็นเบอร์ 2 ในตลาดรองจาก “บุญเติม” โดยมีอยู่ 53,000 จุด ซึ่งในปีหน้ามีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 4,000-5,000 จุด

3. ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหารและร้านค้า ให้บริการติดตั้งระบบศูนย์อาหารและบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบศูนย์อาหารรวมถึงให้บริการแก่ผู้ประกอบการร้านค้าในการติดตั้งระบบการขายสินค้า (Point Of Sale : POS) ซึ่งมีค่าบริการ 650 บาทต่อเดือนโดยได้เริ่มไพลอทแล้วกว่า 10 แห่ง คาดภายในสิ้นปีนี้เพิ่มกว่า 100 แห่ง และ 4. ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) เช่น เครื่องดื่ม ขนม และสินค้าต่างๆภายใต้แบรนด์ “เวนดิ้งพลัส” ที่ปัจจุบันให้บริการอยู่ 5,800 ตู้ โดยภายในสิ้นปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,000 ตู้ และเพิ่มเป็น 12,000 ตู้ภายในสิ้นปี 2564 ทั้งนี้รายได้หลักของSABUY มาจากธุรกิจตู้เติมเงิน 60%, ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 35% และระบบ POS 5% โดยในอีก 2-3 ปีคาดว่าสัดส่วนของ ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติและระบบ POS จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

“สำหรับภาพรวมตลาดหลังจากนี้คงเติบโตไปในธุรกิจตู้เติมเงินที่ทางสบายพยายามจะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์จากรายที่เริ่มถอยออกจากตลาด โดยมองว่าการเร่งทำตลาดในช่วงวิกฤติ นั้นเป็นช่วงที่เจ้าอื่นๆ กำลังล่าถอย จะเห็นว่าธุรกิจใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลังวิกฤติ ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะเจาะตลาด เพราะหลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้นเราก็ยึดหัวหาดไปหมดแล้ว”

      นอกจากนี้ SABUY ได้ตั้งเป้าสู่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการชำระเงินบริษัทแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ MAI ในกลุ่ม Commerce โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท (พาร์ 1 บาท) แก่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,620 หน้า 16 วันที่ 22-24  ตุลาคม 2563