Kochii รุกอะคาเดมีติวเข้มปั้นคนอี-สปอร์ต

04 ต.ค. 2563 | 03:31 น.

Kochii รุกอะคาเดมีติวเข้มเสริมทักษะเกม-ธุรกิจ หนุนพัฒนาบุคลากรสู่สายอาชีพ อี-สปอร์ต

    การเข้ามาของโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจและในหลาย อาชีพ ซึ่งในยุคของความปกติใหม่หรือ New Normal จะเห็นได้ว่า ทักษะออนไลน์เรียกได้ว่า เป็นทักษะที่สำคัญ ขณะที่อุตสาหกรรมอี-สปอร์ตก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมออนไลน์ หากให้ความสำคัญทั้งทักษะการเล่นเกม และทำการตลาดควบคู่กันไป จะเป็นการสร้างโอกาสในอาชีพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น “ตุล-ธนโชติ เกียรติบรรจง CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท โคชิอิ ไทยแลนด์ จำกัด” สตาร์ทอัพเจ้าของแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับวงการอี-สปอร์ต กล่าวในบทสัมภาษณ์ของ “ฐานเศรษฐกิจ”

“ตุล-ธนโชติ เกียรติบรรจง CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท โคชิอิ ไทยแลนด์ จำกัด”

จุดเริ่มต้นของโคชิอิ

      นายธนโชติ กล่าวต่อว่า โคชิอิ (Kochii) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนทักษะเกมและอี-สปอร์ตเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคต ด้วยการพัฒนาฝีมือและทักษะการเล่นเกม ให้กับผู้เล่นและนักกีฬารวมถึงเสริมทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับอี-สปอร์ต เช่น การจัดอีเวนต์ การ สตรีมมิ่ง ทำวิดีโอคอนเทนต์ รวมถึงการบริหารจัดการทีม และการทำการตลาด เนื่องจากงานทางด้านอี-สปอร์ตนั้นจำเป็นที่จะต้องมีทั้งแพชชันและทักษะควบคู่กัน อีกทั้งนักกีฬา อี-สปอร์ตส่วนใหญ่มีรายได้มาจากเงินรางวัลในการแข่งขันและอีกส่วนที่สำคัญคือการหาสปอนเซอร์สนับสนุนทีม ดังนั้นจึงต้องมีการทำการตลาดเพื่อให้ทีมเป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียงด้วยการสร้างคอนเทนท์ต่างๆ

  “ถ้าเล่นเกมเพื่อความสนุก สนานสามารถเล่นเกมอย่างเดียวได้แต่ถ้ามองว่ามันเป็นอาชีพหรือจะต่อยอดไปทำอย่างอื่นจะเล่นเกม อย่างเดียวไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีทักษะอื่นๆประกอบด้วย”

Kochii รุกอะคาเดมีติวเข้มปั้นคนอี-สปอร์ต

ชู 3 บริการหลัก

       สำหรับโคชิอินั้นก่อตั้งมาประมาณ 2 ปี ให้บริการในรูปแบบเว็บแอพพลิเคชัน โดยมีบริการหลักอยู่ 3 ส่วน คือ 1. คลาสเรียนออนไลน์และออฟไลน์ จากผู้เล่นที่มีฝีมือ (Pro player) 2. วิดีโอคอร์ส จากผู้เล่นระดับโลก รวมถึงวิดีโอที่โคชิอิจัดทำขึ้นเองในรูปแบบวิดีโอออนดีมานด์ และ 3. One on one mentoring online มาร์เก็ตเพลสสำหรับผู้เล่นและโปรเพลเยอร์ในการเรียนการสอนทักษะต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง นี้โมเดลรายได้ของโคชิอิมาจากการขายวิดีโอและคอมมิสชัน ในการขอรับคำปรึกษาจากโปรเพลเยอร์

“การที่มีประสบการณ์ในงานอีเวนต์ออแกไนซ์ทางด้านเกม ทำให้มีคอนเนกชันกับนักกีฬาอี-สปอร์ตทีมต่างๆ จึงสามารถดึงผู้เล่นหรือโปรเพลเยอร์เข้ามาร่วมในแพลตฟอร์มได้ ซึ่งมีการคัดกรองตามมาตรฐานทั้งฝีมือการเล่นและความประพฤติ”

รุกออฟไลน์อะคาเดมี

      ปัจจุบันโคชิอิมีผู้เรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วกว่า 10,000 คน และผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์เดือนละกว่า 100,000 คน เนื่องจากมีคอนเทนต์ฟรีให้ผู้ที่สนใจสามารถ เข้ามาศึกษาเพื่อพัฒนาฝีมือการเล่น โดยในปีที่ผ่านมาโคชิอิเติบโตประมาณ 300% จากการพาร์ทเนอร์กับต่างประเทศทำให้รายได้ค่อนข้างเติบโต นอกจากนี้โคชิอิยังมีแผนที่จะขยายสู่ออฟไลน์ อะคาเดมีที่มีความคล้ายกับโรงเรียนกวดวิชาแต่เป็นการสอนทักษะด้านเกมและทักษะทางด้านการทำธุรกิจเกี่ยวกับอี-สปอร์ต ทั้งการโปรดักชัน สตรีมมิ่งและสอนการทำวิดีโอคอนเทนต์ต่างๆ โดยตั้งเป้าที่จะขยายให้ได้ 3 สาขาภายในปีหน้า ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(DEPA) แต่เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ต้องเลื่อนการเปิดจากต้นปีไปเป็นปลายปี 2563 และถึงแม้ว่าสถานการณ์ของโควิดนั้น จะไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงแต่ผู้บริโภคก็มีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ยอดขายในปีนี้อาจไม่เติบโตไปตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2564 โคชิอิตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

ออฟไลน์ อะคาเดมี จะเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มของธุรกิจเพราะการทำออนไลน์ ไม่ได้หยิบจับของจริง ไม่ได้มีการเวิร์คช็อป ซึ่งอาจจะเป็นจุดด้อยของแพลตฟอร์ม ดังนั้นจึงต้องการที่จะเพิ่มออฟไลน์เข้ามาเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงอุปกรณ์และใช้งานอุปกรณ์ได้จริง

 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,615 หน้า 16 วันที่ 4-7 ตุลาคม 2563 

 

โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร