ดีอีเอส แจงไม่มีอำนาจปิดสื่อออนไลน์

14 ก.พ. 2563 | 10:30 น.

เหตุแพลทฟอร์มเป็นของเอกชนสั่งปิดยาก

   นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยว่า ในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2563) หลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รวมถึงสำนักข่าวอิศรา สื่อออนไลน์ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่โคราช ว่า ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ฯจัดสัมมนารู้เท่าทัน-วางกฏเหล็ก Mass Shooting-สังหารหมู่ซ้ำบนสื่อทีวีออนไลน์ 

    อย่างไรก็ตามผลหลังจากจัดสัมมนาสำนักงาน กสทช. เตรียมออกกฏเกณฑ์ในส่วนที่ กสทช. รับผิดชอบในสื่อที่ดูแลอยู่ ซึ่งจะมีเกณฑ์แนวปฏฺบัติที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงข้อจำกัด บทลงโทษต่างๆ

   “สิ่งที่คุยทั้งหมดในการประชุมวันนี้ จะถูกนำมาคุยในวันที่เสวนา เช่น อาจารย์จากทางจุฬาได้ให้ข้อมูลว่าการปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีแนวปฏิบัติสากลอยู่ แต่เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดในประเทศไทย จึงไม่เคยได้ใช้”

ดีอีเอส แจงไม่มีอำนาจปิดสื่อออนไลน์

   ส่วนการแก้ไขกฎหมายแบ่งเป็นสองส่วน คือ 1.เรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องมีกระบวนการจัดการให้เรียบร้อย มีผู้บัญชาการ และ 2.มีเรื่องคนที่ไม่ใช่สื่อ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งใช้ social media ไปมีส่วนร่วมในการขยายผลทั้งในด้านดีหรือไม่ดี

     ส่วนเรื่องสุดท้ายคือเราต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ กระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการที่จะให้ความรู้กับเด็กและเยาวชน ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนได้มีความเข้าใจเรื่องการใช้โซเชี่ยลมีเดียให้ถูกวิธีและอยู่ในความเหมาะสม ซึ่งได้เชิญ อ.วสันต์ ภัยหลีกลี้ เพื่อช่วยดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้ด้าน digital literacy แก่เด็กและเยาวชน มีกรอบเกณฑ์ที่เหมาะสมในการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ให้ประชาชน ซึ่งเรืองนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความกังวลกับการรู้เท่าทันและการเข้าถึงโซเชี่ยลมีเดียของเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีอะไรรองรับ

   นายพุทธิพงษ์ กล่าวยอมรับว่าการขายของที่ไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโซเชี่ยลมีเดีย เช่น ของที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก สินค้าที่ไม่เหมาะสมทางเพศ ที่ปัจจุบันไม่มีการควบคุม ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้

   นอกจากนี้การเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นภาพอนาจารออนไลน์ ซึ่งไม่มีใครทำหน้าที่ป้องกันได้ จะทำอย่างไรจะป้องกันเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งต้องดูว่าเกี่ยวกับกฏหมายใด ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องแก้กฎหมาย เพิ่มผู้รับผิดชอบ เป็นประเด็นที่สังคมคิดแต่ยังไม่มีทางแก้เป็นรูปธรรม

   “ประเด็นเหล่านี้ พรบ. คอมพิวเตอร์ยังไม่ครอบคลุม การแจ้งทางเฟซบุ๊ค เป็นเรื่องยากเพราะแฟลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ภาครัฐ หรือ พรบ. คอมพิวเตอร์ไม่มีอำนาจในการไปปิด หยุด ถอดในแพลตฟอร์มใดได้ ที่เราทำได้คือ 1 ขอความร่วมมือ และ 2 เดินหน้าสู่กระบวนการในชั้นศาล ขออำนาจศาล เมื่อศาลพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมและผิด เราสามารถเอาคำสั่งศาลส่งให้บริษัทเอกชน ในการนำข้อมูลบางอย่างออก ซึ่งต้องไปศึกษากฏหมายว่าในอนาคตจะทำอย่างไรได้ ต้องเอาเหตุและผลมาพูดคุยกัน”

ดีอีเอส แจงไม่มีอำนาจปิดสื่อออนไลน์

   ทั้งนี้กระทรวงดีอีเอส ไม่มีอำนาจเรื่องสื่อออนไลน์ ในขณะที่ในสื่อหลักและสื่อที่ต้องขออนุญาต กสทช. มีอำนาจ แต่ในสื่อออนไลน์ การนำเสนอข้อมูลในโซเชียลมีเดีย หน่วยงานที่นำเสนอข่าวออนไลน์ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงดิจิทัล กระทรวงจึงไม่มีใบอนุญาตในการปิด จึงมีความแตกต่างระหว่างสื่อหลักและสื่อออนไลน์ การเปิดบัญชีผ่านแพลตฟอร์มเอกชนไม่จำเป็นต้องมีบรรณาธิการ หรือ กระบวนการกลั่นกรองข่าว เมื่อมีปัญหา กระทรวงไม่มีอำนาจที่จะไปลงโทษหรือควบคุมแก้ไขปัญหาได้และ การแก้ไขปัญหา ในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่มีใครทำได้ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการได้ ยังเป็นปัญหาในประเทศเค้าเอง ทางหนึ่งที่เราทำได้คือให้ความรู้ต้นทางแก่ เด็ก เยาวชน พี่น้องประชาชน ว่าการใช้สื่อต้องใช้อย่างรู้ทัน เข้าใจ