ทำไม "แคท-ทีโอที" ร่วมวง5G

09 ม.ค. 2563 | 07:54 น.

จับตา 4 ก.พ.มาแบบเดี่ยว หรือ ควงเป็นคู่ รอบนี้มีลุ้น

 

     ถือฤกษ์งามยามดีเลือกเอาวันที่ 9 เดือนแรกของ ปี 2563 มารับเอกสารประมูล 5G พร้อมกันเสียเลยทั้ง บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ก่อนหน้านี้ค่ายมือถือออกมากั๊กไม่ควรให้รัฐวิสาหกิจร่วมประมูลเพราะมีบทเรียนมาแล้ว

     แต่ก็โดนคำท้าจาก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีดีอีเอส ถ้าเอกชนให้คลื่นฟรีจะถอน แคท และ ทีโอที ไม่ร่วมประมูล

     ทำไม?และเพราะอะไรทั้ง แคท  และ ทีโอที สนใจร่วมประมูลรอบนี้

 

ทำไม "แคท-ทีโอที" ร่วมวง5G

 

     ก็เพราะก่อนหน้านี้เจ้ากระทรวงดีอีเอส ได้จับเข่าคุยกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หลังร่วมประชุมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ทีโอที และแคท ร่วมประมูล 5G

     “ผมได้หารือร่วมกับ กสทช. ถึงแนวทางเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ทราบว่า พอมีแนวทางให้ทีโอที และแคท เข้าร่วมประมูลได้ ทั้งในรูปแบบควบรวมกิจการ หรือ ต่างคนต่างเข้าร่วมประมูล” นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

 

ทำไม "แคท-ทีโอที" ร่วมวง5G

 

     แล้วทำไม? ดีอีเอส ถึงอยากให้เข้าประมูล เพราะ “พุทธิพงษ์” มองว่าระบบ 5G ต้องเอาไปสนับสนุนสังคม ถ้าเราเอารัฐวิสาหกิจเข้าไปทำเพื่อขยายการให้บริการเข้าถึงประชาชน รัฐบาลคิดในมุมนี้

     “ถ้าวันนี้มี ม.44 ผมจะขอนำมาใช้เพื่อขอแบ่งคลื่นความถี่ซักส่วนหนึ่งนำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคม แต่ตอนนี้ ม.44 ไม่มีแล้ว ผมถึงได้หันไปดูหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อีกเรื่องห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ระวังทำผิดรัฐธรรมนูญ ก่อนผมพูด ผมศึกษาแล้วว่า ถ้ามีประโยชน์และเหตุผลเพียงพอ ถ้าผิดผมรับผิดชอบ สิ่งที่เรามอง คือ มิติการพัฒนา ประโยชน์จากการรักษาพยาบาล การเดินทาง เรามีความจำเป็น เยอรมนีกันคลื่นความถี่ไว้ 30% เพื่อใช้กับประชาชน และอีก 70% ให้เอกชนประกอบธุรกิจ”  นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

รอลุ้น 4 ก.พ.

     นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้ารับเอกสารรายละเอียดการประมูลครั้งนี้ยังไม่ใช่การแสดงตนว่าจะเข้าร่วมการประมูลต้องรอดูวันที่ 4 ก.พ. ที่จะถึงนี้

     หากทั้ง ทีโอที และ แคท เข้าร่วมประมูลด้วย รวมกับเอกชนที่รับเอกสารไปก่อนหน้าและมีท่าทีสนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นในรอบนี้ เชื่อว่าก็จะทำให้การประมูลมีความเข้มข้น

 

ทำไม "แคท-ทีโอที" ร่วมวง5G

 

ยื่นประมูลแน่

     ขณะที่แหล่งข่าวจาก ทีโอที กล่าวว่า ในเมื่อรับเอกสารแล้วต้องร่วมประมูล ส่วนรายละเอียดไม่ขอเปิดเผย

     ขณะที่นายสืบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีโอที และ แคท ยื่นประมูทั้งสองราย หรืออาจส่งรายใดรายหนึ่งเข้าประมูล เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการควบรวม และการได้สิทธิ์ใช้คลื่นเดิมจะสิ้นสุดลงในปี 2568 ที่จะถึง

     หากทั้ง ทีโอที และ แคท หรือบริษัทฯ หลังการควบรวมต้องการมีที่ยืนในการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม การเตรียมการมีคลื่นที่เหมาะสมไว้เพื่อให้บริการจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการดำเนินงาน

 

ชี้รัฐฯ ต้องการให้สำเร็จ

     นอกจากนี้ นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่าหากมองในแง่การผลักดันเรื่อง 5G โดยภาครัฐ การที่กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งไฟเขียว ให้รัฐวิสาหกิจเข้าร่วมการประมูลถือเป็นสัญญาณว่าภาครัฐให้ความสำคัญและผลักดันอย่างจริงจัง เนื่องจากการลงทุน 5G มีเม็ดเงินที่สูง การที่รัฐต้องการให้เกิดได้เร็วการสร้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมโดยภาครัฐก็ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการทำให้นโยบายนี้สัมฤทธิ์ผล

     แต่จุดที่หลายฝ่ายจับตา คือ หากเข้าร่วมประมูลจริงเม็ดเงินที่ต้องใช้ทั้งค่าคลื่นและอุปกรณ์ การลงทุนในโครงข่าย จะมีเม็ดเงินระดับหลายหมื่นล้าน และต้องมีการแข่งขันขยายโครงข่ายและหาลูกค้าแข่งกับเอกชน ถือว่าการดำเนินธุรกิจในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าการได้คลื่นจากการประมูล

     รอลุ้น! วันที่ 4 ก.พ.ทั้ง ทีโอที และ แคท จะมาแบบเดี่ยว หรือ แบบคู่ น่าติดตาม

 

คอลัมน์ Move ON

โดย: คนท้ายซอย