‘สเปซ-เอฟโมเดล’ ปั้นฟู้ดเทค ดึงสตาร์ตอัพโลกเชื่อมไทย

25 พ.ย. 2562 | 09:10 น.

เอ็นไอเอ เผยประเทศ ไทยขาดแคลนสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอาหารเชิงลึก เร่งผนึกเอกชน - สถาบันการศึกษา ตั้งศูนย์บ่มเพาะ หวังปั้นไทยสู่ฮับอุตสาหกรรมฟู้ดเทค

อุตสาหกรรมอาหารถือได้ว่า เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 23% ของจีดีพีของประเทศ อีกทั้งไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออกอาหารมากที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท รวมถึงมีบริษัทด้านอาหารรายใหญ่และทำเลทางด้านภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหาร ส่งผลให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ ได้ร่วมกับไทยยูเนี่ยน และ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเพื่อผลักดัน 23 สตาร์ตอัพด้านอาหาร หรือโครงการ “สเปซ-เอฟ” หวังปั้นฟู้ดเทคระดับโลกแห่งแรกในไทย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า แนวคิดในการทำงานของเอ็นไอเอ คือ การทำงานที่ต้องอาศัย ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาด้านฟู้ดเทค โดยเน้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านอาหาร โดยสเปซ-เอฟ นั้นจะมุ่งผลักดันฟู้ดเทคสตาร์ตอัพใน 9 สาขา ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิต อาหารอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต วัตถุดิบและส่วนผสมอาหาร ใหม่ๆ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร

‘สเปซ-เอฟโมเดล’ ปั้นฟู้ดเทค ดึงสตาร์ตอัพโลกเชื่อมไทย

“จะเห็นว่าในประเทศไทยยังมีสตาร์ตอัพที่ทำเกี่ยวกับเรื่องอาหารไม่มากนัก ประมาณแค่ไม่กี่ 10 ราย เพราะส่วนใหญ่สตาร์ต อัพจะมุ่งไปที่เรื่องของการทำแพลต ฟอร์มและแอพพลิเคชันเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องอาหารนั้น ยังถือว่าขาดแคลน ดังนั้นสเปซ- เอฟ จึงต้องการที่จะเพิ่มจำนวนของสตาร์ต อัพด้านเทคโนโลยีอาหาร และเปิดกว้างเพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพจากทั่วโลก เพราะการดึงสตาร์ตอัพจากทั่วโลกเข้ามาจะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วมากกว่า”

ทั้งนี้จุดแข็งที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารของโลกนั้นมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ 1. Coporate VC ที่ปัจจุบันหันมาสนับสนุนสตาร์ตอัพมากขึ้นทุกวันซึ่งเป็นจุดแข็งที่จะทำให้ระบบนิเวศของสตาร์ตอัพไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น 2. ประเทศไทยเป็นตลาดที่เอื้อต่อการเปิดตัวนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ ได้ดี เนื่องจากผู้บริโภคต่างให้ความสนใจในเทคโนโลยี ดังนั้นสเปซ-เอฟ จะเป็นผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดอาหารผู้บริโภคจากความรู้ของสตาร์ตอัพที่เข้าใจปัญหาของระบบซัพพลายเชนในธุรกิจอาหาร และมีแผนธุรกิจที่สามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทได้สนับสนุนด้านการลงทุนและศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสตาร์ตอัพในการบริหารจัดการธุรกิจ, ด้านการเงิน รวมถึงการต่อยอดนวัตกรรมไปสู่ความสำเร็จ โดยมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้เพื่อแนะแนวทางให้กับทั้ง Incubator และ Accelerator ทั้ง 23 ทีม ซึ่งในการลงทุนนั้นมองว่า สตาร์ตอัพรายใดที่สามารถคอมพลีเมนต์กับบริษัทได้ ก็จะเลือกลงทุนกับรายนั้น อาทิ การลงทุนในเรื่องของแมลง ที่มีศักยภาพในการสร้างโปรตีน เมื่อทรัพยากรด้านอาหารในอนาคตไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมองถึงการดึงพันธมิตรนักลงทุนจากองค์กรในไทยเข้ามาร่วมลงทุน กับสตาร์ตอัพด้วย

“จุดแข็งของไทยคือเราเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหาร ขณะที่จุดอ่อนของเราคือการขาด แคลนเรื่องของนวัตกรรม อีกทั้งไทยเองไม่ได้ล้าหลังในเรื่องของฟู้ดเทค สตาร์ตอัพไทยมีไอเดียที่ดี มากมาย แต่ยังมองการขยายหรือ ต่อยอดธุรกิจในสเกลเล็กแค่เพียงในประเทศ ซึ่งสตาร์ตอัพต้องมองการสเกลไปได้ทั่วโลก”

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3522 ระหว่างวันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน 2562