ธุรกรรมทรูมันนี่ 1.65 แสนล. เผยปี 60 ยอดผู้ใช้อาเซียนกว่า 21 ล้านคน

10 ก.ค. 2561 | 04:45 น.
แอสเซนด์ มันนี่  เผยปีมูลค่าธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทผ่านแพลตฟอร์มทรูมันนี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 60 มีมูลค่ารวม 165,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 400% มียอดผู้ใช้บริการรวมมากกว่า 21.1 ล้านคน ไทยตัวเลขเติบโตสูงสุด คิดเป็น 50% ของมูลค่าธุรกรรมรวม

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินดิจิตอลภายใต้ชื่อแบรนด์ “TrueMoney Wallet” เปิดเผยว่า มูลค่าของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริการต่างๆ ของแอสเซนด์ มันนี่ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเป็นสัดส่วนสูงสุด คิดเป็นอัตราเกือบ 50% ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดผ่านบริการต่างๆ ของแอสเซนด์ มันนี่ ขณะที่ในตลาดอื่นๆ มีมูลค่าการใช้จ่ายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญสูงถึง 460% โดยประเทศกัมพูชามียอดการทำธุรกรรมผ่านบริการของแอสเซนด์ มันนี่ คิดเป็น 10% ของจีดีพีประเทศ

[caption id="attachment_296696" align="alignright" width="261"] ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์[/caption]

“ในประเทศไทย เราให้บริการด้วยแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินดิจิตอลภายใต้ชื่อแบรนด์ “TrueMoney Wallet” นำเสนอบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ซื้อดิจิตอลคอนเทนต์ การโอนเงินระหว่างบุคคล หรือ P2P และบริการจ่ายเงินซื้อสินค้าในห้างร้านต่างๆในช่วง12 เดือนที่ผ่านมา เรามีผู้ใช้งาน TrueMoney Wallet เป็นประจำเติบโตสูงราว 4 เท่า ถือเป็นผู้นำหนึ่งเดียวในอุตสาหกรรมกระเป๋าเงินดิจิตอลในตลาดเมืองไทย”

ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมามูลค่าธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทผ่านแพลตฟอร์มทรู มันนี่ในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือ ประมาณ 165,000 ล้านบาท (คิดที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ) โดยเติบโตขึ้นจากปี 2559 ถึง 400% และในปี 2560 มีจำนวนผู้ใช้บริการทรู มันนี่ใน 6 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 21.1 ล้านคน

“ในทุกพื้นที่ที่ทรู มันนี่ให้บริการจะเป็นรูปแบบไฮบริด โดยมีทั้งบริการด้านการเงินออนไลน์ผ่านกระเป๋าเงินดิจิตอลและบริการทำธุรกรรมออฟไลน์ผ่านเครือข่ายตัวแทน ทั้งนี้ประชากรประมาณ 50-80% ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง ซึ่งบริการแบบไฮบริดแพลตฟอร์มเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับการให้บริการด้านการเงินแก่คนที่ไม่มีบัญชีหรือเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร ด้วยรูปแบบการให้บริการของเราในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่มุ่งให้บริการผู้บริโภคที่มีความเข้าใจในดิจิตอลและอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่บริการของเรายังมุ่งเน้นเพื่อเข้าถึงและอำนวยความสะดวกด้านการเงินแก่ประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารที่อยู่ตามหัวเมืองรองซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆ

โดยแอสเซนด์ มันนี่ มีเครือข่ายตัวแทนมากกว่า 60,000 ราย ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรกับทั้งธนาคารรายหลักและธุรกิจท้องถิ่นมากมาย ปัจจุบัน แอสเซนด์ มันนี่ เปิดให้บริการใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ตัวแทน ทรู มันนี่ สามารถมอบบริการทางการเงินและช่องทางการจ่ายเงินในด้านต่างๆ แก่ผู้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ

นายธัญญพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่านอกจากความสำเร็จด้านการดำเนินธุรกิจแล้วยังเห็นการเติบโตในเชิงบวกของระบบนิเวศทั้งในมุมของผู้ใช้บริการและเศรษฐกิจระดับชุมชนที่เข้าถึงนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญๆ แรงงานสามารถใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีวอลเล็ตบนโทรศัพท์มือถือ สามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวพวกเขาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือแม้แต่ส่งเงินให้ครอบครัวที่อยู่ในต่างแดน

“กลุ่ม ซีพี และ แอนท์ ไฟแนนเชียล เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 2 รายของบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ฯ ทำให้บริการของ ทรูมันนี่สามารถต่อยอดการวางกลยุทธ์ด้านพันธมิตรจากเครือข่ายลูกค้าและร้านค้าต่างๆ จากกลุ่มซีพี ในขณะเดียวกันยังสามารถนำนวัตกรรมและความเชี่ยว ชาญของแอนท์ ไฟแนนเชียล มาปรับใช้เพื่อพัฒนาบริการและช่องทางการจ่ายเงินให้เหมาะสมกับผู้บริโภค”

e-book-1-503x62-7

................................................................................................

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,382 ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2561