ติงรัฐ อย่าทำให้ระบบงบประมาณอ่อนแอ

01 มิ.ย. 2564 | 13:19 น.

"ดร.พิสิฐ" อภิปราย ติงแนวคิดนายกฯ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหางบประมาณ แต่จะทำให้ระบบงบประมาณยิ่งอ่อนแอ ย้ำ การพยายามหลบการใช้จ่าย ใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ ทำให้รัฐสภาไม่มีโอกาสตรวจสอบ ประชาชนอาจกังขา เตือนรัฐ ระวังทำผิดกฎหมายเสียเอง

1 มิ.ย. 2564 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ระบุถึงการบริหารจัดการเกี่ยวกับงบประมาณ เพราะงบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศ หากเครื่องมือนี้มีปัญหา มีข้อที่น่ากังวลก็จะเป็นสิ่งที่เกิดปัญหาใหญ่หลวงในอนาคต ซึ่งเคยเกิดวิกฤติแบบนี้มาแล้ว เมื่อ 40 ปีก่อน จน IMF เข้ามาช่วย 

ดังนั้น เมื่อประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤติด้านงบประมาณ และกำลังดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 ระบุเรื่องการขาดดุล และเรื่องงบลงทุน แม้จะบอกว่าได้มีการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงบประมาณขณะนี้กำลังเข้าสู่จุดบอดที่จะนำไปสู่ปัญหา และกำลังจะชนเพดาน เนื่องจากปัญหาโควิด 

“ผมไม่โทษรัฐบาล ผมไม่ได้มาตำหนิรัฐบาล แต่ผมพยายามหาทางให้เราช่วยดูแลเรื่องระบบงบประมาณให้ดี เพื่อจะได้ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของประเทศ ผมเป็นห่วงมากครับ ที่ท่านนายกฯ ชี้แจงเมื่อวานนี้ว่า จะแก้ปัญหาเรื่องงบลงทุน โดยการเพิ่มแหล่งลงทุน ช่องทางอื่นๆ ต่างๆ โดยเฉพาะใช้การกู้เงินตาม พ.ร.บ.หนี้มากขึ้น ผมยืนยันว่านั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหางบประมาณ แต่จะทำให้ระบบงบประมาณยิ่งอ่อนแอลง” ดร.พิสิฐกล่าว 

การพยายามหลบการใช้จ่าย และไปใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ ทำให้รัฐสภาไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ ไม่ได้เห็นข้อมูลต่างๆ ประชาชนจะไม่ทราบที่มาที่ไป เมื่อประกาศ พ.ร.ก. ให้ไปใช้จ่ายได้จะทำให้ระบบงบประมาณเสียหายมาก ดังนั้น การใช้กฎหมายกู้เงินจึงไม่ใช่หลักงบประมาณที่ดี แต่วิธีการที่จะทำได้ในเวลานี้ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องไปตัดรายจ่าย เพราะสถานการณ์ตอนนี้จะต้องช่วยประชาชน และเศรษฐกิจโดยการใช้จ่าย แต่จะต้องให้เวลา ซึ่งในกฎหมายการเงินการคลังก็ระบุว่า มีการให้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งเป็นการดูแลเรื่องรายได้ และ ครม. ได้มีการพูดคุยไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่จะต้องมีแนวทางเพิ่มศักยภาพทางการคลัง 3Rs  Reform - Reshape-Resilience

ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในเรื่องแผนการคลังระยะสั้นที่อาจจัดงบเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ขาดการใช้จ่าย และที่อยากเห็นเพิ่มเติมคือควรจัดสรรงบเพื่อมุ่งเป้าไปสู่การแก้ปัญหาโควิดโดยตรง งบที่ยังไม่จำเป็นก็อาจจะรอไว้ก่อนได้ ที่สำคัญคือ ถ้าหากโควิดหายไป เราจะต้องกลับฟื้นมาได้ และกลไกของรัฐทั้งระบบการคลัง และงบประมาณจะต้องกลับมาเป็นปกติด้วย

เมื่อ 40 ปีก่อนประเทศไทยประสบวิกฤติการคลัง สำนักงบประมาณใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการเข้าสู่ระบบ Zero-based budgeting (ZBB) และเป็นที่มาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2530 เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการลงทุนต่างประเทศ แต่เวลานี้การคลัง และงบประมาณของไทยกำลังมีวิกฤติ เพราะรายจ่ายด้านต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินที่จะนำมาใช้ในการลงทุนที่เป็นประโยชน์ด้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบกลาง กว่า 70% เป็นงบสวัสดิการข้าราชการ ดังนั้น จึงอยากให้ได้แยกหมวดนี้ให้ชัดเจน มิฉะนั้นการนำงบกลางมาปนกับงบสวัสดิการจะทำให้การตรวจสอบเรื่องการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพได้

ดร.พิสิฐ กล่าวอีกว่า เป็นตัวชี้วัดที่ไม่มีผลต่อการสร้างวินัยการเงินการคลัง และกลับเป็นการสร้างปัญหาระหว่างหน่วยงาน ซึ่งสำนักงบประมาณไม่ได้ตั้งงบหลายงบที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ เช่น งบชำระหนี้ งบสวัสดิการ ทำให้ต้องมีการใช้เงินคงคลัง ด้านกระทรวงการคลังจึงต้องหันมาชูตัวชี้วัดเหล่านี้ใน พ.ร.บ.วินัยการคลัง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องสังคายนาตัวชี้วัดเหล่านี้ พร้อมกับการปรับปรุงระบบการคลัง

ความจริงระบบจะต้องมีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เงินทุกบาทที่ได้จากภาษีอากรของประชาชน ควรต้องมาใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์ เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติระบบการคลังต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ แต่เวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ฐานะการคลังรัฐบาล และหนี้รัฐบาลกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการใช้จ่ายเพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 ที่มีการกู้เงิน 1 ล้านล้าน และอีก 5 แสนล้าน บวกกับรายได้ของรัฐที่ตกต่ำเพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นายกฯ ได้ประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการคลังหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 60 พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 และพ.ร.บ.วินัยการคลัง 2561 อย่างเรื่องของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ได้ระบุเอาไว้ว่าจะต้องมีไม่เกิน 60% แต่ในเวลานี้หนี้สาธารณะกำลังเข้าสู่ตัวเลขที่เกิน 60% แม้จะมีความพยายามแต่งตัวเลข GDP ก็ตาม

“ผมไม่อยากให้เราเข้าสู่การทำผิดกฎหมาย โดยที่เราอนุมัติงบประมาณไป เพราะงบประมาณปี 2565 จะมีการขาดดุลถึง 7 แสนล้าน ดังนั้นเมื่อที่ประชุมแห่งนี้เราจะต้องอนุมัติงบประมาณปี 65 และถ้าหากอนุมัติก็จะเท่ากับเปิดทางให้รัฐบาลทำผิด พ.ร.บ.วินัยการคลังที่นายกฯ เซ็นไป” ดร.พิสิฐกล่าว 

นอกจากนี้ รธน.60 ยังระบุว่า การทำงบประมาณจะต้องใช้ พ.ร.บ.วินัยการคลัง ซึ่งใน พ.ร.บ.วินัยการคลังนี้ ระบุว่าจะต้องดูแลเรื่อง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณที่ดี ในการจัดทำงบประมาณประจำปี แต่จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีวานนี้ ยังมีความไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 10 (1) ระบุไว้ชัดเจนว่า นายกฯ จะต้องแถลงฐานะการคลัง แต่ในคำแถลงของนายกฯ วานนี้เป็นเพียงการกล่าวถึงตัวเลขหนี้เก่าก่อนเริ่มงบประมาณ ปี 2565 หรือเงินคงคลังที่ไม่ใช่ฐานะการคลัง ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งกระทรวงการคลังสามารถทำรายงานฐานะการคลังได้ แต่กลับไม่นำมาแสดง นอกจากนั้น ในมาตรา 11 ก็จะต้องแถลงถึงวิธีการหาเงินด้วยแต่ในคำชี้แจงนั้นกลับไม่มีการแถลง 

“ผมไม่อยากเห็นเราทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเหล่านี้ ท่านนายกฯ เป็นคนเซ็นเองทั้ง 3-4 ฉบับ เราไม่แสดงฐานะการคลัง เราไม่แสดงหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม และไม่แสดงวิธีการหาเงินตามที่ระบุในกฎหมาย ที่ผมต้องท้วงติงเพื่อจะให้ระบบของเรามีความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ดร.พิสิฐกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง