หวั่นเงินกู้ 7แสนล้าน เอื้อประโยชน์การเมือง

21 พ.ค. 2564 | 04:10 น.

“ฝ่ายค้าน” จับตาเงินกู้ 7 แสนล้าน หวั่นนำไปหาประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจ ประกาศไม่รับร่างพรบ.งบประมาณปี 65 เหตุไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาโควิดระบาด

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในวงเงิน 700,000 ล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1. นำมาใช้จ่ายเรื่องการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เครื่องมือแพทย์ และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็น วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท 2. นำมาใช้เพื่อการชดเชยและเยียวยา ประมาณ 400,000 ล้านบาท  และ 3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 270,000 ล้านบาท 

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตามพระราชกำหนด พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มขึ้น เพราะเงินกู้ 1.9 ล้านล้านที่ผ่านมา ที่อ้างว่าจะนำไปฟื้นฟูประเทศและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผลที่ออกมาคือการตรวจสอบการใช้เงินกู้ของ รัฐบาลทำได้ยากมาก และการใช้เงินกู้ที่ผ่านมาไม่ช่วยให้ประเทศฟื้นตัว 

นอกจากนี้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน เงินกู้ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อนำไปสร้างฐานการเมืองของรัฐบาล รัฐบาลเปิดโอกาสให้นายทุน และเจ้าสัวเข้าถึงเงินกู้ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) กลับเข้าไม่ถึงเงินกู้ดังกล่าว การมาขอกู้เพิ่มหวั่นใจว่ารัฐบาลจะนำเงินกู้ไปหาประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจ

 

วิสาร เตชะธีราวัฒน์

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมรัฐภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

จากการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณที่รัฐบาลจัดทำ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา พรรคเพื่อไทย มีความเห็นตรงกันว่า จะไม่รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 เพราะเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ การอ้างว่าจัดทำงบประมาณเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิดรอบ 3 เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อหาทางออกของรัฐบาล 

ในขณะที่ความเป็นจริงรัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการทหารมากกว่าความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ในสภาวะโรคระบาดเช่นนี้ รัฐบาลกลับเห็นการซื้ออาวุธจำเป็นมากกว่าการรักษาชีวิตคน ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า จะลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 อย่างแน่นอน

 

ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ว่า การจัดสรรงบประมาณต้องสมเหตุสมผล แต่ขณะนี้งบประมาณไม่มีความสมเหตุผล แม้ว่ากระทรวงกลาโหมจะออกมาบอกว่าปรับลดงบประมาณกองทัพแล้ว ทำให้หลายกระทรวงได้รับงบเพิ่มเป็นสิ่งที่ดีแล้วคงไม่ใช่ เพราะการจัดสรรงบประมาณต้องพิจารณาว่างบใดของกองทัพที่ยังไม่ถูกกาลเทศะโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19

“ต้องอธิบายว่า อาวุธยุทโธปกรณ์จะซื้อมาเพื่อใช้ในภารกิจใด หากไม่เชื่อมโยงกับประโยชน์ คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ควรปรับลดลงอีก ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ถ้าสถาน การณ์ยังพบการขาดแคลนเตียง หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในอนาคตก็ควรเพิ่มงบประมาณอีก เราต้องเอาความจำเป็นเป็นหลัก ไม่ใช่ครั้งที่แล้วขาดแคลนมาก เพิ่มงบประมาณในครั้งนี้จะพอใจแล้ว เราจะติดหล่มกับการด้อยเรื่องบริหารจัดการงบประมาณ คนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน” นายวิโรจน์ กล่าว

 

ต้องใช้เงินกู้ให้คุ้มค่า

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรมว.คลัง แสดงความเห็นถึงกรณีรัฐบาลมีมติออกเงินกู้อีก 700,000 ล้านบาทว่า หากถามว่า การกู้ครั้งใหม่นี้มีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ คำตอบคือในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน คำตอบคือ ไม่กู้ไม่ได้อยู่ดี  โดยที่ภาระต่องบประมาณยังรับได้อยู่ (สัดส่วนงบดอกเบี้ยและงบคืนเงินต้น เทียบกับงบรายจ่ายโดยรวมของรัฐบาล) แต่นั่นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยช่วงนี้ตํ่ามาก และเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าดอกเบี้ยนโยบายประเทศอื่นจะปรับขึ้น เพราะสัญญาณเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป 

 

ทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาหากเศรษฐกิจเราฟื้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าจีดีพี เราโตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 2-3% ไปอีก 4-5 ปี เราอาจจะเริ่มมีปัญหา ดังนั้นการใช้เงินจึงต้องเข้าเป้า และนี่คือโจทย์ที่สำคัญที่สุด ต้องกู้แต่ต้องใช้เงินกู้ให้คุ้มที่สุด 

“รอบแรก 1 ล้านล้านบาท ผมให้แค่ 6/10 คะแนน จากส่วนเยียวยา ผมถือว่ารัฐบาลทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเราไม่ทิ้งกัน หรือ “คนละครึ่ง” ฯลฯ แต่ที่หัก 4 คะแนน ผมว่าผิดเป้า เพราะเอาไปฟื้นฟูในเรื่องไม่เป็นเรื่องเสียเยอะ และเบิกจ่ายช้ามาก ไม่สมกับเป็น งบฉุกเฉิน ตามนิยามของพ.ร.ก.รอบใหม่นี้ไม่ควรแจกแนวเดิม และไม่ควรมีเรื่องฟื้นฟูไม่เป็นเรื่องอีกเลย แต่ต้องยิงให้เข้าเป้า นั่นคือเป้าหมายหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs ร้านอาหาร ธุรกิจภาคบริการทั้งระบบให้อยู่รอด จนถึงการฉีดวัคซีนครบตามเป้า” อดีตรมว.คลัง กล่าว

 

กรณ์ จาติกวณิช

 

 

นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคกล้า เราเสนอทางออกไปหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหา อย่างล่าสุดเราเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร แต่ก็ถูกกระทรวงการคลังปฏิเสธ ส่วนในเงินกู้ 7 แสนล้านใหม่ มีส่วนที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟูสูงถึง 270,000 ล้าน ตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความผิดพลาดซํ้ากับปีที่ผ่านมา ตรงนี้ต้องปรับ 

“สำคัญที่สุดที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเร่งทำคือ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มิเช่นนั้นเงินกู้ทั้งหมดนี้ ก็จะถูกละลายหายไปโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้คนไทยรู้สึกมีความหวังมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนจากเฮือกสุดท้ายของผู้ประกอบการ รวมไปถึงกรอบเงินกู้ที่ล้นชนเพดานแล้ว” อดีตรมว.คลัง ระบุ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,681 หน้า 12 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :