ชำแหละพรก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท

20 พ.ค. 2564 | 07:55 น.

ชำแหละพรก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,681 หน้า 10 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2564

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในวงเงิน 700,000 ล้านบาท 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เป็นภาพรวม เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จะเป็นเงินลงทุนประมาณ 700,000 ล้านบาท ส่วนเงินกู้อีก 700,000 ล้านบาท จะเข้ามาช่วยเพิ่มเติมในวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 3 ข้อ คือ 

1. นำมาใช้จ่ายเรื่องการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เครื่องมือแพทย์ และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็น มีวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท 

2. นำมาใช้เพื่อการชดเชยและเยียวยา ประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนอีก 270,000 ล้านบาท จะนำมาใช้ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ทั้งการช่วยในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกัน และรัฐบาลต้องเข้าไปกำกับดูแลการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามนี้  

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่ครม.อนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ เพิ่มเติมอีก 700,000 ล้านบาทว่า เห็นด้วยกับการที่ต้องอัดเม็ดเงินเพิ่มเพื่อเยียวยาประชาชน และธุรกิจที่เดือดร้อน และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังสาหัสและสำคัญที่สุด คือการหยุดยั้งการระบาดโควิดอย่างถาวร ด้วยการทุ่มงบประมาณจัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพดีให้เพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะเป็นการหยุดยั้งวิกฤติิเศรษฐกิจได้เร็วที่สุดอีกด้วย 

ดังนั้นก่อนที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่ม เห็นว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการดังต่อไปนี้ก่อนคือ 

 

ชำแหละพรก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท

 

1. ตัดงบปี 2565 ที่ไม่จำเป็น เร่งด่วน ที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้คนไทย ออกไปทั้งหมดก่อน เช่น งบกระทรวงกลาโหมที่มีสูงถึง 203,282 ล้าน เพราะขณะนี้ศัตรูของคนไทย คือ เชื้อโรคตัวเล็กๆ ที่ใช้อาวุธสงครามไปเข่นฆ่าไม่ได้ โดยเห็นว่า งบประมาณในปี 2565 ยังสามารถตัดมาเพื่อทุ่มซื้อวัคซีนคุณภาพดี และใช้ในการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกอย่างน้อย 15% หรือเกือบ 500,000 ล้านบาท

2. เงินกู้ใหม่ ต้องไม่เป็นการตีเช็คเปล่า เหมือนเงินกู้ 1 ล้านล้านรอบที่แล้ว ที่รัฐบาลนำไปใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ประชาชน และธุรกิจที่เดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลือ และมีข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสมากมาย ดังนั้น ก่อนสภาจะอนุมัติเงินกู้ใหม่นี้ รัฐบาลต้องชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนได้ทราบให้ชัดเจนก่อนว่า  จะใช้เงินกู้ของประชาชน ไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนบ้าง

ทั้งกรอบเงินกู้เยียวยาประชาชน อีก 400,000 ล้าน และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 270,000 ล้าน ต้องเป็นโครงการที่ลงไปถึงประชาชน และผู้ประกอบการที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริง ทั่วถึง เป็นธรรม และตรงเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งกรอบเงินกู้เพื่อแผนงานด้านสาธารณสุขอีก 30,000 ล้าน ต้องลงไปพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับการระบาดของโควิดรอบใหม่ได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อวัคซีนคุณภาพดีอย่างรวดเร็ว 

 

3. ต้องใช้เงินกู้ของประชาชนทุกบาทอย่างโปร่งใส โดยรัฐบาลต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลกู้มา คือภาระของลูกหลานไทยที่ต้องใช้หนี้กันอย่างยาวนาน

เช่นเดียวกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ต้องมั่นใจว่าเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพราะหน้าตักเราจะหมดแล้ว 

ลองไปดูว่ารัฐใช้เงินกู้ก้อนแรก 1 ล้านล้านบาท ไปทำอะไร ซึ่งเข้าไปดูโครงการที่ ครม.อนุมัติแล้วได้ในเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ พบว่า ข้อมูลในนี้ มี 257 โครงการ วงเงิน 797,667 ล้านบาท มีหลายโครงการที่อ่านแล้วไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับโควิดอย่างไร 

เช่น โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน 246 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า 741 ล้านบาท โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) 10,629 ล้านบาท โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 13,904 ล้านบาท

“ถ้าเป็นโครงการปกติ ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับแก้ปัญหาวิกฤติิโควิดจริงๆ ก็ควรจะใช้งบประมาณปกติ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้บ้าง เพราะเงินกู้เหล่านี้ สุดท้ายประชาชนต้องเป็นคนจ่ายคืนทุกบาท ดังนั้น หวังว่า จะใช้กันอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ” ชัชชาติ ระบุ

ส่วนท่าที่ของพรรคก้าวไกล วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบุว่าช่วงนี้ของปีที่แล้ว รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่ 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย ไม่เห็นผลลัพธ์อะไรจากการกู้เงินของรัฐบาลเลย 

 

หากกลับไปดูการดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายเลยซักแผน โดยแผนสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท ผ่านมา 1 ปี การเบิกจ่ายยังทำได้ตํ่ามาก หลายโรงพยาบาลยังขาดความพร้อม การตรวจเชื้อยังทำได้จำกัด เตียงและเครื่องช่วยหายใจไม่พร้อมรับคนไข้โควิดรอบใหม่ โรงพยาบาลสนามที่ไม่ได้มาตรฐาน  

แผนเยียวยา วงเงิน 600,000 ล้านบาท รัฐบาลอนุมัติได้เกือบเต็มวง เงิน แต่ข้อสังเกต คือ เงินก้อนนี้ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SMEs ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผล กระทบโดยตรง 

ส่วนแผนฟื้นฟู 355,000 ล้านบาท คงเหลือ 216,886 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายล่าช้ามาก การตั้งโครงการก็มีลักษณะอิงการเมือง ไม่มีวิสัยทัศน์ มีความเสี่ยงที่โครงการจะไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ

ร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ ยังคงถูกวางกรอบไว้เหมือนเดิม คือ ด้านสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท, เยียวยา วงเงิน 400,000 ล้านบาท และ ฟื้นฟู วงเงิน 270,000 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลทำเหมือนเดิม คือ การทำโครงการเบี้ยหัวแตกและรวมศูนย์อำนาจในการอนุมัติ ผลลัพธ์ย่อมไม่ต่างไปจากปีที่แล้ว”

“เราควรเปลี่ยนตัวนายกฯ เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ผู้ที่มีวิสัยทัศน์และมีศักยภาพมากกว่านี้มาเป็นผู้บริหารงบประมาณ” ส.ส.ก้าวไกลผู้นี้ระบุ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :