ปล่อยชั่วคราว-พักโทษ แก้วิกฤติโควิดเรือนจำ

19 พ.ค. 2564 | 05:00 น.

ปล่อยชั่วคราว-พักโทษ แก้วิกฤติโควิดเรือนจำ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,680 หน้า 10 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม 2564

“วันนี้โควิด-19 เข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่กทม. ปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด ตัวเลขรวมแล้ว 10,384 ราย” นั่นคือคำแถลง ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อบ่ายวันที่ 17 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา

กลายเป็นปัญหา “หนักอก” สำหรับประเทศไทย หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด เข้าไปในเรือนจำหลายแห่งของประเทศ

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 10,384 ราย หนักหนาสาหัสเอาการกับการดูแลรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดลุกลาม ไปมากกว่าเดิม

ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องหามาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ในของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งดูแลกรมราชทัณฑ์ รมว.ยุติธรรม บอกว่า ในการรักษา ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยวางเป้าหมายจัดยา “ฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเพื่อรักษา และใช้ยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจรเข้าช่วยเหลือรักษา ในขณะรอดูอาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยระดับ “สีเขียว” ที่ติดเชื้อและไม่แสดงอาการ และอาการระดับ “สีเหลือง” ที่กำลังเริ่มแสดงอาการ

นอกจากนั้น ต้องให้นักโทษและผู้คุมที่ไม่ติดเชื้อทุกเรือนจำ “ฉีดวัคซีน” โดยด่วน

“หากยังไม่สามารถชะลอหรือ หยุดยั้งการแพร่เชื้อได้ จะมีการพิจารณาในการพักโทษรูปแบบพิเศษ และขณะนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา เชื่อว่าต้นเดือนหน้าจะเข้าสู่การพิจารณา หากมีการประกาศใช้ จะมีนักโทษส่วนหนึ่งจะได้รับการปรับอัตรา โทษ ประมาณ 50,000 คน เช่น การติดกำไลอีเอ็ม จะพิจารณาละเอียดให้รอบคอบ ทั้งสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวะของผู้ต้องขัง เพื่อกำหนดนโยบายการพักโทษขึ้นมา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสังคมได้ประโยชน์ด้วยกัน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องขัง” นายสมศักดิ์ ระบุ

 

ปล่อยชั่วคราว-พักโทษ  แก้วิกฤติโควิดเรือนจำ

 

ในส่วนของ “ศาลยุติธรรม” นั้น สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้ แจงถึงแนวทางการรับมือและช่วยคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำ ว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกหนังสือเวียนถึงหน่วยงานในสังกัดสำนัก งานศาลยุติธรรม เน้นยํ้าการปฏิบัติตามมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฯ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยาย โอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการ ปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2562 

โดยการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาคดี (ทุกชั้นศาล) และผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด ในสถานที่ คุมขัง และเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือ ภัยอันตราย โดยพึงใช้วิธีกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมาใช้เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำ เป็นระหว่างนี้ และเมื่อใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว สามารถผ่อนคลายการเรียกหลักประกันลงได้ โดยวิธีดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในศาลสูงสำหรับจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีของศาลล่างได้ด้วย 

 

หากศาลกำหนดเงื่อนไขให้แก่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องรายงานตัวเป็นระยะๆ อาจใช้วิธีรายงานตัวทางโทรศัพท์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ 

ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง 

ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไข เช่น มีคำสั่งกำกับดูแลผู้ต้องหา หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) จำกัดการเดินทางของผู้ต้องหา เป็นต้น 

สำหรับการพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีที่สถานที่คุมขังแห่งใดมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดเชื้อโรค ให้อยู่ในพื้นที่ที่ทางสถานที่คุมขังกำหนด ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาศาล หรือดำเนินการในลักษณะการประชุมทางจอภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 

 

 

การสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ อาจดำเนินการโดยส่งสำเนาคำร้องขอฝากขังไปยังสถานที่คุมขัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานที่คุมขังแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบและลงชื่อคัดค้าน หรือไม่คัดค้านการฝากขัง หากผู้ต้องหาคัดค้านให้สถานที่คุมขังแจ้งให้ศาลทราบโดยเร็วเพื่อเรียกไต่สวนผู้ร้องถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังต่อไป 

ส่วนการอ่านคำพิพากษา กรณีจำเลยทุกคนในคดีได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาและแจ้งให้คู่ความทราบ เว้นแต่คู่ความแจ้งให้ศาลทราบว่าประสงค์จะฟังคำพิพากษาตามกำหนดเดิม ก็ให้อ่านคำพิพากษาไปได้ 

ส่วนกรณีจำเลยบางคนหรือทุกคนในคดีถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ให้อ่าน คำพิพากษาตามกำหนดนัดเดิม โดยผ่านการประชุมทางจอภาพผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์

“การนำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด มาปฏิบัติใช้ เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชน ผู้ต้องขัง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ช่วยลดความเสี่ยงและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอีกด้วย” โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ