ส่องเกมใหม่ ‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ ลุย‘รื้อระบอบประยุทธ์’

16 เม.ย. 2564 | 05:15 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล ที่กำลังเดินเกมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา เมื่อเปิดสภาสมัยสามัญขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ถึงจะถึงนี้ 

โดย พรรคพลังประชารัฐ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.พรรค จำนวน 110 ชื่อ ยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด 5 ประเด็น 13 มาตรา ต่อ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไปแล้ว เมื่อวันที่  7 เม.ย.ที่ผ่านมา 

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้วเบื้องต้น 6 ประเด็น คาดว่าจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล หากได้ข้อสรุปก็จะยื่นได้ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ

เช่นเดียวกับ พรรคเพื่อไทย ก็เตรียม ยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เช่นเดียวกัน 

แต่ท่าที่และความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองนอกสภา อย่าง “กลุ่มก้าวหน้า” ของ 3 เกลอ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ก็ได้เดินเกมล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1-2 ด้วยแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์”

กิจกรรมล่ารายชื่อคิกออฟไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ที่ใต้ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้ตั้งโต๊ะเพื่อให้ประชาชนลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมี ส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าร่วมลงรายชื่อ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็ได้ลงชื่อไปแล้ว 

 

ส่องเกมใหม่ ‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ ลุย‘รื้อระบอบประยุทธ์’

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ว่า เราทำในนามของกลุ่ม Resolution ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ 4 องค์กร คือ 1. คณะก้าวหน้า 2. พรรคก้าวไกล 3. กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ 

โดยการลงชื่อครั้งนี้คือ การเข้าชื่อตามสิทธิรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นการใช้สิทธิ์ของประชาชน ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 5 หมื่นคนขึ้นไป เข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มี 3 ช่องทางใหญ่ๆ คือ 

1. การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ และทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ ซึ่งในประเทศไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ด้วยวิถีนอกรัฐธรรมนูญคือการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและเขียนฉบับใหม่ ซึ่งเราไม่ประสงค์ให้เกิด 

 

วิธีการที่ 2 คือ การทำประชามติ เพื่อเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วให้ประชาชนร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ โดยปราศจากข้อจำกัด ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำประชามติภายใต้ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ แต่ต้องเป็นประชามติตามอำนาจสถาปนาของประชาชน

ช่องทางที่ 2 ที่ได้ทำไปแล้วคือ การแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) เพื่อทำใหม่ทั้งฉบับแต่ปรากฏว่าถูกเบี้ยวลงไปดื้อๆ ถูกทำให้ตกไป 

ส่วนช่องทางที่ 3 คือ การแก้ไขราย มาตรา ในรัฐสภาเริ่มมีการพูดกันแล้ว แต่เป็นประเด็นที่เล็กมาก เช่น เรื่องระบบเลือกตั้ง ก็เป็น การแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง หรือแก้ไขมาตรา 144 ให้ ส.ส.สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการใช้งบประมาณ ที่ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดทางโครงสร้างใดๆ 

จึงเป็นที่มาให้กลุ่มของพวกเราจัดกิจกรรมรณรงค์ออกมาใช้สิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อเสนอแก้ไขรายมาตรา แล้วเสนอแก้ประเด็นใหญ่ๆ เป็นการแก้ไขเพื่อ “รื้อระบอบประยุทธ์” เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกลไกหลายอย่าง ที่ค้ำยัน “ระบอบประยุทธ์” ไว้ได้

นายปิยบุตร ยืนยันว่า ครั้งนี้จะแตกต่างจากเดิม โดยจะรณรงค์ให้ได้รายชื่อมากขึ้น และรณรงค์ในประเด็นที่พุ่งตรง ที่เป็นใจกลางของปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ส.ว.250 คน ซึ่งถ้าหากได้รายชื่อหลายแสนคนหรือเป็นล้านคน ส.ว.ทั้ง 250 คน จะต้องถูกกดดัน ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และหากส.ว.ยังไม่แยแสเสียงเรียกร้องของประชาชน ผลลัพธ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

สำหรับเป้าการล่ารายชื่อนั้น ตั้งเป้าแรก 6 เดือน และดูว่าจะได้จำนวนรายชื่อมากพอหรือไม่ แต่ต้องให้เกิน 5 หมื่น หรืออาจจะถึงหลักแสนหลักล้านเพื่อให้เป็นนัยยะสำคัญในการส่งเสียง ไปถึงสถาบันการเมือง และ ส.ว.

 

“สำหรับการรณรงค์ในครั้งนี้ เรามุ่งเน้นไปที่กลไกการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช.ไว้” มีเป้า 4 ประเด็นใหญ่ คือ การยกเลิกวุฒิสภา โล๊ะศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องขององค์กรอิสระ การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ ล้างมรดกคณะรัฐประหาร 

“การไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้สนใจเรื่องนั้น วันนี้เราแค่รณรงค์ 4 ประเด็นนี้ก่อน” ปิยบุตร ระบุ

ด้านท่าที่ของพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงจุดยืนของพรรคในการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคก้าวไกลต้องการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่า มีความประสงค์จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วยวิธีการเลือกตั้ง เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  

“ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เป็นหัวใจการสืบทอดอำนาจ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม คือ การปิดสวิตซ์และตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการปฏิรูปองค์กรอิสระ และ ระบบเลือกตั้ง ซึ่งข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการเปลี่ยนเป็นระบบให้ประชาชนเลือกได้ทั้งพรรค และ ส.ส.เขต เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยใช้รูปแบบเดียวกับในประเทศเยอรมัน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุ

การเคลื่อนไหวของ “คณะก้าวหน้า” สอดประสานกับ “พรรคก้าวไกล” ส่วนจะไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ...ต้องติดตามดูกันต่อไป 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,671 หน้า 10 วันที่ 18 - 21 เมษายน 2564