ตำรวจ วางตู้คอนเทนเนอร์ ป้องสถานที่สำคัญ ย้ำชุมนุมในกทม.ผิดกฎหมาย

20 มี.ค. 2564 | 07:39 น.

ตำรวจนครบาล เตือนกลุ่มรีเดม ชุมนุมในกทม. ผิดกฎหมาย เผยถูกจับส่งฟ้องแล้ว 129 คดี จากทั้ง 179 คดี ชี้วางตู้คอนเทนเนอร์ ท้องสนามหลวง เพื่อป้องสถานที่สำคัญ

วันนี้ (20 มีนาคม 2564) เวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วยพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. ร่วมกันแถลงมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มรีเดมในวันนี้ที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 18.00น.-21.00น.

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า จะมีกลุ่มมวลชน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเยาวชนปลอดแอก (REDEM) เวลา 18.00-21.00 น. 2.กลุ่มศิลปะปลดแอก (FreeArt) เวลา 18.30 น. และ 3. กลุ่มเพื่อนอานนท์ เวลา 19.19 น. มารวมตัวกันบริเวณท้องสนามหลวงในช่วงบ่ายวันนี้

ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแจ้งเตือนว่า เนื่องจากขณะนี้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบกับมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ประกาศห้ามในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุม หรือจัดกิจกรรมในลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ประกอบ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ

การชุมนุมทุกอย่างในกรุงเทพมหานคร ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย และฝากเตือนถึงผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งกรณีที่มีการประกาศว่าจะมีการแจกจ่ายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์บางอย่างที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีความผิดตามมาตรา 112 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ผู้จำหน่าย ผู้จ่ายแจก หรือผู้เกี่ยวข้องถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยทั้งนั้น

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามสถานการณ์และการข่าว และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมา โดยยืนยันว่าจัดกำลังไว้เพียงพอตามสถานการณ์และการข่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่มีการชุมนุมมา ตำรวจได้จับกุมและคุมตัวผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 179 คดี ส่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ 129 คดี ส่วนที่เหลือกำลังสืบสวนสอบสวน และจะรายงานผลเป็นระยะ

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า พื้นที่สนามหลวงเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร แต่อย่างไรก็ตามกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเสริมการปฏิบัติของกรุงเทพมหานคร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและระงับเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการวางรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์รอบสนามหลวงนั้น เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องตั้งแนวป้องกันรักษาสถานที่สำคัญ อาทิ ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฯลฯ

ตำรวจ วางตู้คอนเทนเนอร์ ป้องสถานที่สำคัญ ย้ำชุมนุมในกทม.ผิดกฎหมาย

ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเสริมว่า ความจำเป็นที่ต้องวางสิ่งกีดขวางกีดกั้น เป็นการประเมินสถานกาณ์ของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันระวังไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ยกตัวอย่างเช่น การรักษาสถานที่ราชการสำคัญต่างๆ การป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ และป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจไม่ได้ตั้งใจจะบุกรุกเข้าไปในสถานที่

ตำรวจ วางตู้คอนเทนเนอร์ ป้องสถานที่สำคัญ ย้ำชุมนุมในกทม.ผิดกฎหมาย

แต่ขณะที่ชุมนุมนั้นอาจมีอารมณ์ร่วมระหว่างการชุมนุม ฉะนั้นการวางสิ่งกีดขวางหรือสิ่งกีดกั้นเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้มาชุมนุมกระทำผิดซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดที่มีอัตราโทษสูงขึ้น เป็นการประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง

ตำรวจ วางตู้คอนเทนเนอร์ ป้องสถานที่สำคัญ ย้ำชุมนุมในกทม.ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตามการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งคงจะเป็นการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความเป็นห่วงจึงพยายามดำเนินการให้ดีที่สุดเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านการจราจร

สำหรับการชุมนุมโดยหลักการแล้วในห้วงปกติที่ไม่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องการระบาดของโรคติดต่อที่ร้ายแรง การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องมีการแจ้งเจ้าหน้าที่และการชุมนุมนั้นจะต้องเป็นไปโดยสงบตามสันติวิธี

แต่ขณะนี้อยู่ภายใต้การบริหารของกฎหมายที่มีความพิเศษขึ้นมา ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการต่างๆ และสถานที่สำคัญ ซึ่งมีการเชิญชวนผ่านออนไลน์ให้ใช้สิ่งของที่ไม่เหมาะสมบุกรุกเข้าเข้าไปขว้างปาสิ่งของต่างๆ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่สมควร ในการตั้งแบริเออร์ในรูปแบบต่างๆ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุหนักขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดที่รุนแรงไปกว่านี้

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ส่วนมาตรการรับสถานการณ์การผู้ชุมนุม ช่วงเช้าจะยังไม่มีการวางสิ่งกีดขวางปิดการจราจร แต่ในช่วงเย็นที่จะมีการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะประเมินตามสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนสนามสอบต่างๆ ไม่ได้อยู่รอบสนามหลวง แต่เส้นทางเคลื่อนผ่านของผู้ชุมนุมอาจมีผลกระทบ

ตอนนี้ยังไม่สั่งปิดถนน แต่จะดูสถานการณ์ในช่วงเย็นอีกครั้งว่าจำเป็นต้องปิดถนนหรือไม่ ซึ่งถนนท้ายวังและอัษฎางค์จะได้รับผลกระทบแน่นอน ขอให้ใช้สะพานพุทธ สะพานปกเกล้า ข้ามจากฝั่งพระนครไปฝั่งธนบุรีเป็นเส้นทางเลี่ยง รวมถึงสะพานพระราม 8 และสะพานซังฮี้ เพื่อเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ และถนนกาญจนาภิเษก