เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร

18 พ.ย. 2563 | 09:15 น.

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,628 หน้า 10 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2563

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม โดยเรื่องผลกระทบด้านการ เกษตรและพันธุ์พืช กมธ.มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 

1.1 รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานในการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช โดยกลุ่มเกษตรกรมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยผู้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายในจำนวนที่พอเพียงต่อความต้องการของกรม การข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชุมชนในการนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย เผยแพร่แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดความสมดุลกับพันธุ์ลูกผสมของภาคธุรกิจเอกชนตามหลักของความได้สัดส่วน ที่ต้องให้การคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชกระทบสิทธิของเกษตรกรในระดับพอประมาณ โดยการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรให้เพียงพอและต่อเนื่อง

 

1.2 รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณ และอัตราบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์และด้านการผลิต เมล็ดพันธุ์แก่กรมการข้าว เพื่อสามารถนำเชื้อพันธุกรรมข้าวที่เก็บรวบรวมไว้มาใช้ประโยชน์เต็มตามศักยภาพของพันธุ์ และเพื่อให้กรมการข้าวสามารถกำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายของข้าว เพิ่มจากประมาณร้อยละ 30 ของเมล็ดพันธุ์จำหน่ายที่ชาวนาต้องซื้อมาใช้ เป็นประมาณร้อยละ 60 เพื่อสร้างดุลยภาพด้านความมั่นคงทางเมล็ดพันธุ์ข้าวของประเทศไทย 

 

1.3 รัฐต้องเร่งรัดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 (ตัวอย่างร่างกฎหมายในภาคผนวก ซ) และอนุบัญญัติ เพื่อแก้ปัญหาการใช้กฎหมาย เตรียมการให้กลุ่มเกษตรกรมีการปรับตัวและสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืช เอื้อประโยชน์ต่อการทำเกษตรยั่งยืนและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้น 

 

ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราช บัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชให้มีผลใกล้เคียงกับหลักการของอนุสัญญา UPOV 1991 อนุสัญญาอื่นที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก และให้เหมาะสมกับบริบทวิถีชีวิตและสังคมเกษตรกรรมไทย ทั้งยังต้องเร่งรัดออกกฎหมายให้สอด คล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนกฎหมาย อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการนี้

 

1.4 รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานแบบบูรณาการด้านพันธุ์พืชกับการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเองได้ โดยส่งเสริมให้มีเครือข่ายการดำเนินงานแบบบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเกษตรกรในด้านพันธุ์พืชและศูนย์ผลิตพันธุ์พืชชุมชน เพื่อให้สามารถให้บริการด้านเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์พืชที่เหมาะสมแก่เกษตรกรได้ อย่างมีมาตรฐานและเพียงพอกับความต้องการ โดยการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรให้เพียงพอและต่อเนื่อง

 

 

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร

 

 

1.5 รัฐต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเป็นการด่วน ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฟาร์มถึงการแปรรูปขั้นต้น เพื่อเพิ่มรายได้สุทธิแก่เกษตรกรให้สัมพันธ์กับค่าแรงขั้นตํ่า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรของประเทศ 

 

1.6 รัฐต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ปลูกพืชทุกกลุ่ม เช่น ข้าว พืชไร่ ผัก ไม้ผล ไม้ดอกพืชเครื่องดื่ม และสมุนไพร-เครื่องเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเรื่องเกี่ยวกับ CPTPP และข้อบทที่ เกี่ยวกับ UPOV ให้ชัดเจนถึงผลได้-ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

 

อ่านประกอบ:

เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (1)

 

2. ประเด็นผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า การเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในประเด็นผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ขึ้นกับความพร้อมและการเตรียมการภายในประเทศ คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกต ดังนี้

 

2.1 ยังมีประเด็นที่ควรศึกษาและ/หรือวิจัยต่อยอดเพิ่มเติมในลักษณะที่บูรณาการระหว่างประเด็น ได้แก่

 

(1) ขนาดของผลกระทบทั้งทางด้านการขึ้นทะเบียนตำรับยา การเข้าถึงยาของประชาชนและอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทย ตลอดจนกระบวน การในการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบในกรณีของการเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา

 

(2) ผลกระทบระยะยาวทั้งในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัย และการแข่งขันทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาไทย ความมั่นคงทางยาและการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนราคายาและความสามารถในการเข้าถึงยาของประชาชนไทย ในกรณีการเปิดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

 

(3) ความคุ้มค่ากับความเปลี่ยน แปลงของเทคโนโลยีและความล้าสมัยของเครื่องมือแพทย์ และความสามารถในการกำจัดขยะของประเทศไทย  

 

(4) วิธีการใหม่ที่จะใช้แทนการแสดงเลขที่รับแจ้งนี้ ซึ่งจะต้องใช้เพื่อการคุ้มครอง

 

ผู้บริโภคโดยไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภคในการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ รวมถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่จะใช้วิธีการใหม่นั้น แทนเลขที่รับแจ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

 

2.2 มีความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมประชุมและปรึกษาหารือถึงผล กระทบเชิงโครงสร้าง ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าร่วมในความตกลงนี้ โดยจะ ต้องเสนอแนวทางปฏิบัติภายในแต่ละหน่วยงาน การแบ่งความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่ และอำนาจซ้อนทับกัน การเพิ่มภาระงานให้บางหน่วยงาน อาจมีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรบุคลากรใหม่ หรือมีการบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานเพิ่มขึ้น รวมถึงรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอให้กับหน่วยงาน ในประเด็นต่อไปนี้

 

(1) สร้างกระบวนการเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Patent Linkage) และจะต้องเกิดการทำงานร่วมกันโดย อย. และกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหลีกเลwี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ กระบวนการ Patent Linkage ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาและภาคสาธารณสุข

 

(2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชสมุนไพรของประเทศไทยให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันโดยเร็วที่สุด และจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังการลักลอบนำพันธุ์พืชไทย ไปจดทะเบียนสิทธิ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางสมุนไพรของไทย ไม่ว่าจะเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 หรือไม่ก็ตาม

 

(3) ทำความชัดเจนในการกำหนดนิยามและพิกัดศุลกากรเครื่องมือแพทย์ ที่เป็น Remanufactured Goods และการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อโดยสถานพยาบาลภาครัฐ

 

(4) รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบ เพื่อการจำแนกเครื่องมือแพทย์ Remanufactured 

 

(5) รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบ เพื่อการจำแนกเครื่องมือแพทย์ Remanufactured Goods และเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วหรือเครื่องมือแพทย์มือสอง เพื่อรับประกันด้านมาตรฐานของเครื่องมือแพทย์และความปลอดภัยของประชาชน