เปิดเหตุผลทำไมต้องเลือกตั้ง อบจ.ก่อน

10 ต.ค. 2563 | 04:15 น.

เปิดเหตุผล ทำไมต้อง เลือกตั้ง อบจ.ก่อน : รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,617 หน้า 10 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม 2563

 

ในที่สุด “คณะรัฐมนตรี” ก็มีมติให้มีการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” เกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2563 นี้ โดยให้เป็นการเลือกตั้งในรูปแบบ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือ อบจ.ก่อน 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 380 คน

 

สำหรับการเลือกตั้งรูปแบบอื่น ปีหน้าก็จะทยอยดำเนินการต่อไป พร้อมมีการเตรียมงบประมาณปี 2564 ไว้ด้วย 

 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช .มหาดไทย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละประเภทจะต้องเว้นระยะห่างประมาณ 60-90 วัน เพื่อให้กกต.มีเวลาตรวจสอบการร้องเรียนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ก่อนที่จะไปเลือกตั้งในประเภทอื่นต่อไป

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขา ธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่า ไทม์ไลน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เรื่องวันเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต.จะเห็นว่าวันใดเหมาะสมระหว่างวันที่ 13 ธ.ค. หรือ 20 ธ.ค. 2563 แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นวันที่ 20 ธ.ค. เนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. เป็นช่วงวันหยุดยาว  ทั้งนี้จะมีความชัดเจนขึ้นหลังประชุม กกต.ในวันที่ 12 ต.ค.นี้   

 

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกหลังใช้บังคับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่นี้ กกต.ก็จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงวันรับสมัคร ของนายกและสมาชิก อบจ. เป็นวันเดียว กันทั้ง 76 จังหวัด เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ และหลังจากที่กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก็จะเริ่มนับหนึ่งในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่วนนายกและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีตามกฎหมายกำหนด  

 

เลขาฯ กกต. ระบุว่า ครม.มีมติให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ก่อน เพราะว่าพร้อมที่สุด ส่วนการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่จะตามมา กกต.ก็จะมีการพูดคุยกับมหาดไทยว่าพร้อมไหม

 

 

เปิดเหตุผลทำไมต้องเลือกตั้ง อบจ.ก่อน

 

 

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยระบุถึงเหตุผลของการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละรูป ว่า “มหาดไทย” เตรียมเสนอครม.ให้เลือกตั้ง อบจ.ก่อน (13 ธ.ค. 63) ตามด้วย เทศบาล และอบต. (28 ก.พ. 64) สุดท้ายกทม.และเมืองพัทยา (25 เม.ย. 64)

 

เหตุผลทำไมต้องเลือกอบจ.ก่อน 

 

เพราะมีความพร้อมที่สุด แบ่งเขตแล้ว งบประมาณไร้ปัญหา ความน่าจะเป็นอยู่ระหว่าง 13 ธ.ค. หรืออย่างช้า 20 ธ.ค. เพราะต้องไม่ใกล้วันสิ้นปีมากเกินไป และไม่ใกล้พระราชพิธีสำคัญช่วงต้นเดือน

 

 

 

เทศบาล-อบต. ทำไมต้องเลือกก.พ.64

 

• เพราะเงื่อนไขทางกฎหมาย หากไม่ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งเทศบาลใหม่ จะต้องเลือกตั้งภายในเดือนก.พ. 64 ซึ่งมีการแบ่งเขตเกือบครบหมดแล้ว ยกเว้นเทศบาลที่เพิ่งยกฐานะจากอบต. หรือเปลี่ยนสถานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง ซึ่งมีไม่มาก 

 

• ส่วนอบต.ไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเขต และไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับเทศบาล จึงสามารถเลือกตั้งพร้อมกับเทศบาลได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องการประกาศรวมเขตหมู่บ้าน ที่มีประชากรไม่ถึง 25 คน ที่นายอำเภอ ต้องประกาศภายในเดือนมกราคมในปีที่มีการเลือกตั้ง (กรณีเช่นนี้ อาจเลื่อนเลือกตั้งอบต.ไปเม.ย. 64)

 

• กทม.และเมืองพัทยา สามารถเลือกตั้ง เม.ย. 64 หรือเลื่อนไปอีกหลายๆ เดือนได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้เปรียบอยู่แล้ว เนื่องจากผู้บริหารของทั้งกทม.และเมืองพัทยา ได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช.และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ด้วย 

 

• สำหรับการเว้นระยะห่างประเภทละ 2 เดือน ก็เป็นไปตามที่กกต.ได้ขอไว้เนื่องจากต้องให้เวลากกต.ทำงาน (จริงๆ ขอไว้ 3 เดือน) ทั้งการตรวจสอบข้อร้องเรียน และการรับรองผลเลือกตั้ง จึงต้องเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 60 วัน 

 

 

 

ผู้บริหารอปท.พ้นตำแหน่งเมื่อไหร่

 

ถามว่าแล้ว สมาชิกสภาและผู้บริหารอปท.แต่ละประเภท จะพ้นจากตำแหน่งคราวเดียวกันหรือไม่ และพ้นเมื่อไหร่

 

• กฎหมายกกต.กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นแต่ละประเภท จะพ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งอปท.ประเภทนั้นๆ ฉะนั้นคำตอบก็คือ การพ้นจากตำแหน่งจึงไม่พร้อมกัน  

 

• หากกกต.ประกาศให้เลือกตั้ง อบจ.วันที่ 13 ธ.ค. 63 ซึ่งจะต้องประกาศก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 60 วัน ก็น่าจะเป็นวันที่ 10-12 ต.ค. 63 ซึ่งจะเป็นวันที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาอบจ.พ้นจากตำแหน่ง 

 

• เทศบาลและอบต. หาก กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเป็น 28 ก.พ. 64 จริง กกต.ก็น่าจะประกาศในห้วงวันที่ 25-30 ธ.ค. 63 ซึ่งจะเป็นวันที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลและอบต.พ้นจากตำแหน่ง