6 ญัตติแก้รธน. ลุ้น‘รัฐสภา’ชี้ขาด 23-24 ก.ย.นี้

20 ก.ย. 2563 | 03:30 น.

 

ข้อเรียกร้องหนึ่งของกลุ่ม “ม็อบนักศึกษา” ที่เรียกร้องและกดดันไปยังรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ให้ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่

 

โดยในช่วงระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมร่วมกันของ “รัฐสภา” เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเสนอเป็นญัตติเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ 6 ญัตติ ประกอบด้วย 

 

พท.รื้อระบบเลือกตั้ง

 

1. ร่างของ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ขอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

 

หัวใจสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเสนอก็คือ ปิดทางไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และขอรื้อระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ คือเลือกทั้งส.ส.เขต และเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) 

 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงความต้องการของพรรคเพื่อไทย คือ แก้ไขเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือการยกเลิก ส.ว. ตามมาตรา 269 การยกเลิกหน้าที่ และอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270

 

พรรครัฐบาลตั้ง ส.ส.ร.

 

2. ญัตติถัดไปเป็นของ พรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ

 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิป รัฐบาลได้เสนอให้เพิ่มในหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามสัดส่วนจังหวัด 150 คน และมาจากการเลือกทางอ้อม 50 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร.ที่รัฐสภาคัดเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีฯ เลือก 10 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และด้านรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ และอีก 10 คนจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกนิสิต นักศึกษา จำนวน 10 คน

 

6 ญัตติแก้รธน.  ลุ้น‘รัฐสภา’ชี้ขาด 23-24 ก.ย.นี้

 

 

ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นส.ส.ร.นั้น จะต้องมีอายุไม่ตํ่า กว่า 18 ปีบริบูรณ์ และจะต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าผู้สมัคร ส.ส. ยกเว้นสามารถถือครองหุ้นสื่อมวลชนได้ พ้นโทษจำคุกไม่ถึง 10 ปี หรือพ้นตำแหน่ง ส.ว.มาไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถเข้ารับการเลือกตั้งได้ และไม่ห้ามผู้สมัครที่เคยลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. มาสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้ ซึ่งการเลือก ส.ส.ร. กกต.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลใช้บังคับ

 

 

 

ขณะที่ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่มีการประชุม ส.ส.ร.นัดแรก โดยการสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ผูกพันกับสถานะ ส.ส.ร. ซึ่งการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถกระทำได้ มิเช่นนั้น ร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่าง จะเป็นอันตกไป 

 

เมื่อ ส.ส.ร.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ให้ส่งรัฐสภาพิจารณาขานมติให้ความเห็นชอบโดยเปิดเผย ซึ่งจะต้องมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2  สภา เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากรัฐสภา ไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ประธานรัฐสภา ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติขอความเห็นจากประชาชน ภายใน 45-60 วัน 

 

ฝ่ายค้านชงแก้ 5 มาตรา 

 

ขณะที่ญัตติที่ 3-6 เป็นของ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ที่เสนอร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ประกอบด้วย  1. แก้มาตรา 272 และ 159 ไม่ให้ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ 2. แก้มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 3. แก้มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 4. แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

 

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุถึงประเด็นที่ขอแก้ไขเป็นในส่วนของกระบวนการเลือกนายกฯ จะกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เป็นผู้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ จะเปิดโอกาสให้ส.ส.ในสภาฯ เสนอชื่อส.ส.ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามให้สภาฯ เลือกเป็นนายกฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย

 

 

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือกส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะใช้รูปแบบเขตเดียว เบอร์เดียว

 

สำหรับการคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้ระบบการกัน 5% หมายความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อได้นั้น จะต้องมีจำนวนคะแนนเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5% จากจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด

 

“คิดว่าการมีระบบการกัน 5% เอาไว้นั้น จะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหญ่ หรือทำลายพรรคการเมืองเล็ก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540” 

 

23-24 ก.ย.นี้ จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะได้โอกาสอภิปราย “รัฐธรรมนูญ 2560” ซึ่งหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องอภิปรายพาดพิงไปถึง “รัฐบาลบิ๊กตู่” ในประเด็นการ “สืบทอดอำนาจ” อันเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

ส่วนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ฉบับไหน ของใคร จะได้ “ไปต่อ” หรือถูก “ตีตก” เดี่ยวได้รู้กัน... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,611 หน้า 12 วันที่ 20 - 23 กันยายน 2563